วันนี้ (16 พ.ย.2560) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมปัญหาการระบาดหนอนตัวแบนนิวกินี หนอนเอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 100 ชนิดพันธุ์ที่รุกรานรุนแรงที่สุดของโลก ร่วมกับตัวแทนจากกรมควบคุมโรค กรมวิชาการเกษตร สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม siamensis.org ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยรายงานการค้นพบในไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560
ดร.นณณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นจากการสืบค้นข้อมูลคาดว่าหนอนตัวแบนนิวกินีน่าจะเข้ามาไทยตั้งแต่ปี 2553 โดยนายชยจิต ดีกระจ่าง ถ่ายภาพในเขตบางเขน กทม. ส่วนปี 2560 จุดเริ่มต้นจากพื้นที่ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อปลายเดือน ต.ค.จนถึงวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ได้จากการส่งข้อมูลจากสถานที่ต่างๆ มายังเฟซบุ๊กกลุ่ม siamensis.org ขณะนี้มีรายงานการระบาดมากกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ส่วนแหล่งที่มาและการนำเข้าไม่สามารถหาได้ เพราะอาจจะมาจากดิน กระถางต้นไม้ ดินที่เปื้อนรองเท้าเข้ามาแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งภาพจากลักษณะภายนอกที่ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพบว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินีจริง
ตรวจ “ดีเอ็นเอ”สายพันธ์ุหนอนเอเลียน
ดร.นณณ์ บอกว่า เนื่องจากหนอนตัวแบนนิวกินีใน 22 ประเทศและเขตการปกครอง มาเลเซีย และ ไทยจัดให้เป็น 1 ใน 100 สัตว์ต่างถิ่นรุกรานที่เลวร้ายที่สุดของโลก เพราะการระบาดทำให้หอยทากพันธ์ุพื้นเมืองสูญพันธ์ุ ตัวอย่างการรุกรานของหนอนตัวแบนนิวกินี ในประเทศญี่ปุ่น หอยท้องถิ่นบนเกาะโอกาวาระทั้งหมด 25 ชนิด 16 ชนิดสูญพันธุ์ภายใน 25 ปี
สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อจากนี้คือการนำตัวอย่างหนอนตัวแบนนิวกินี ที่พบในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ตรวจสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดในแถบออสเตรเลียและนิวกินีหรือไม่ แต่เชื่อว่าจะเป็นชนิดเดียวกันเพราะหนอนชนิดนี้ไม่มีสายพันธุ์อื่น นอกจากนี้จะมีทีมวิจัยตรวจสอบการแพร่ระบาดทั้งในพื้นที่การเกษตร ชุมชน รวมทั้งพื้นที่ป่าไม้ ร่วมกับทีม สกว. การศึกษาว่าเป็นพาหะนำโรคเพื่อเฝ้าระวังและต้องมีมาตรการเชิงรุกไม่ให้แพร่กระจายเข้าไปพื้นที่ป่าอนุรักษ์และประเทศอื่นๆ ที่มีชายแดนติดกับไทย
ล้อมคอก พท.เสี่ยงป่าไม้ ดึงชาวบ้านแจ้งเบาะแส
ด้านนายวิจารย์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่อยากให้เกิดความตื่นตระหนกว่าเกี่ยวกับอันตรายทางสุขภาพจากโรคหนอนพยาธิ โดยจากนี้ทาง ทส.จะร่วมกับหลายหน่วยงานเร่งการศึกษาข้อมูลเชิงลึกถึงการแพร่ระบาด เพราะจะมีผลไปถึงการปรับบัญชีหนอนตัวแบนนิวกินี ซึ่งอยู่ในบัญชี 4 เป็นชนิดที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย โดยอาจจะถูกปรับไปอยู่ในบัญชี 1, 2 และ 3 ได้ในอนาคต แต่สิ่งที่ทำได้ทันทีคือขอให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสผ่านทางไลน์ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจชื่อ หนอนตัวแบนนิวกินี โดยให้แอดไลน์ @qbw4880w
สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่การเป็นพาหะนำโรคสู่คน แต่ห่วงการระบาดในเขตป่า ขณะนี้สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจว่ามีหนอนตัวแบนนิวกินีในเขตป่าหรือไม่ เพราะระบบนิเวศมีความอ่อนไหว รวมทั้งจะร่วมกันทำคู่มือความรู้ความเข้าใจประชาชน ถึงแม้จะสัมผัสได้ แต่ไม่ควรสัมผัสโดยตรงและการทำลายอย่างถูกวิธี
สผ.ชงปรับบัญชีเอเลียนสปีชีส์ไทย 333 ชนิดจาก 273
ด้านนางอัษฎาพร ไกรพานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. กล่าวว่า ขณะนี้ สผ.ได้ปรับบัญชีรายชื่อชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของประเทศไทยจากเดิม 273 ชนิด ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 เม.ย.2552 ใหม่ โดยในปี 2560 ปรับปรุงกลุ่มทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม กำจัดของประเทศไทยเพิ่มเติมเป็น 333 ชนิด และผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ กอช. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
สำหรับบัญชีใหม่ คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาในสัปดาห์หน้า ประกอบด้วย บัญชีรายการที่ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วเพิ่มขึ้น 135 ชนิด จากเดิม 81 ชนิด บัญชีรายการที่ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกรานเพิ่มขึ้น 66 ชนิด จากเดิม 52 ชนิด บัญชีรายการที่ 3 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทยลดลงเหลือ 44 ชนิด จากเดิม 49 ชนิด เพราะขยับขึ้นไปอยู่ในบัญชีรายการที่ 2 บัญชี รายการที่ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประ เทศไทยลดลงเหลือเพียง 88 ชนิด จากเดิม 91 ชนิด เพราะขยับขึ้นไปอยู่ในบัญชีรายการที่ 2 หรือมีข้อมูลทางวิชาการที่พิสูจน์ทราบว่าไม่ใช่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือเป็นชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยดังเดิมแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าตื่นตระหนก ยังไม่พบ "หนอนเอเลียน" เป็นพาหะพยาธิปอดหนู
ห้าม สผ.แถลงหนอนเอเลียน-เบรกสื่ออ้างรอพร้อม 2 กระทรวง