วันนี้ (24 พ.ย.2560) กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ และสมาคมพัฒนาชาวไร่ยาสูบ นำโดยนายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพฯ และนายอรุณ โพธิตา เลขาธิการสมาคมพัฒนาชาวไร่ยาสูบ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ตามกฎกระทรวงการคลัง ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโรงงานยาสูบ ขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 78 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นมา โดยมีนายจิระ พันธุ์คีรี ผู้ช่องปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้รับหนังสือแทน
นายคณุตม์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.60 ที่ผ่านมาว่า ตนเองเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ในการแก้ไขกฎหมายและกฎกระทรวงของรัฐบาล เพื่อจัดหารายได้เข้ารัฐมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมไปถึงเป็นมาตรการให้คนไทยลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ แต่ตั้งแต่กฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ กลับกลายเป็นช่องทางให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติ ลดราคาขายปลีกบุหรี่หลายยี่ห้อ ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงใหม่ ทำให้ราคาถูกกกว่าบุหรี่ระดับล่างของโรงงานยาสูบที่ต้องขึ้นราคาจากอัตราภาษีใหม่ ทำให้ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบในเดือน ต.ค.2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจาก ร้อยละ 80 เหลือ ร้อยละ 55 จนมีการประมาณการณ์ว่า ในปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบจะประสบภาวะขาดทุนมากถึง 1,575 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2482 หรือ 78 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้โรงงานยาสูบไม่สามารถจัดส่งรายได้เข้ารัฐได้ตามเป้าหมายด้วย จากเดิมที่ปี 2560 มีรายได้ส่งเข้ารัฐในรูปแบบภาษีประมาณ 54,000 ล้านบาท และประมาณการณ์ในปี 2561 จะจัดส่งภาษีได้ราว 43,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้โรงงานยาสูบจะจัดส่งรายได้ให้รัฐน้อยลงกว่าเดิมไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านบาท
นายคณุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหภาพและเกษตรชาวไร่ยาสูบ ขอความเป็นธรรม โดนให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง พิจารณาหามาตรการเยียวยาคุ้มครอง ในฐานะโรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงการคลัง แต่ปล่อยให้มีช่องว่างทางกฎหมายให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติหาประโยชน์ และทำลายกลไกทางการตลาดในประเทศเสียหายเป็นอย่างมาก หากรัฐยังเพิกเฉยสถานการณ์อาจจะเลวร้าย ทำให้โรงงานยาสูบต้องกลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้ารับการฟื้นฟูกิจการ หรืออาจถึงขั้นต้องปิดโรงงาน
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ ได้ประกาศเชิญชวนพนักงานและผู้บริหารโรงงานยาสูบทุกระดับชั้น ร่วมกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย เพื่อรวบรวมรายชื่อให้สหภาพแรงงานฯ ยาสูบ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ออกคำสั่งคุ้มครองผลกระทบจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่ทางรัฐบาลพิจารณาแสวงหาแนวทางเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น