วันนี้ (29 พ.ย.2560) นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญ หาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ที่มีการนำเข้ามาจากถิ่นอื่นโดยไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา บางชนิดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทำให้เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ดี ถือเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ดั้งเดิมของไทยและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐ กิจ และสุขอนามัย
ซึ่งภาพรวม ประเทศไทยมีชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อยู่มากกว่า 3,500 ชนิด ส่วนใหญ่ถูกนำเข้ามาเพื่อการเกษตร การเพาะเลี้ยง เป็นสัตว์เลี้ยงสวยงาม รวมทั้งการเก็บรวบรวมไว้ในสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ โดยมีการแพร่ระบาดข้ามพรมแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน การเดินทาง การขนส่ง
แต่หากจำแนกกลุ่มสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว เช่น ปลาดุกรัสเซีย ปลาซักเกอร์ ปลาหมอเทศ และสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน เช่น ปลาหมอสียักษ์ ปลากดอเมริกัน ปลาเทราท์สายรุ้ง
ขณะที่ยังพบมีการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง หรือ IBC เช่น ปลาหนวดตัวดำ ปลาจระเข้ปากสั้น ปากยาว กุ้งแคระ ปลาหมูไฟฟ้า ปลาซักเกอร์ ปลาจิ้งจกลายเสือ กุ้งแคระขาว กุ้งแคระทับทิม กุ้งเครย์ฟิช ปลาหมอสี
ดังนั้นไทย ในฐานะประเทศสมาชิกภาคีอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการกำหนดกรอบการดำเนินงานที่จะผลักดันให้มีการจัดการกับเอเลียนสปีชีส์ จึงมีการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย
ชงออกกฎกระทรวงคุมสัตว์น้ำต่างถิ่นโทษปรับ-จับ
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้ เตรียมออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ซึ่งหากผู้ใดกระทำผิดมีบทลงโทษตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2560 (ฉบับแก้ไข) ตามมาตรา 144 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 65 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ในการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากต่างประเทศจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง IBC เสียก่อน ซึ่งจะพิจารณาวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้ รวมถึงมาตรการป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปยังแหล่งน้ำสาธารณะได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาการระบาดของสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายทางระบบนิเวศที่ชัดเจนตอนนี้ เช่นกรณีของ ณีปลาหมอสีระบาดอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม