วันนี้ (4 ธ.ค.2560) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการประมาณการพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักราว 6-7 แสนคน และสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยสาเหตุจากโรคทางกรรมพันธุ์ ภาวะติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน มีไข้สูงแล้วชัก มีอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง ความเสื่อมของร่างกายหรือเนื้องอกเจริญผิดปกติแต่กำเนิด การได้รับสารพิษบางอย่าง
ผู้ป่วยโรคลมชักจะมีอาการหลากหลาย ทำให้สังเกตยาก ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคลมชัก จึงไม่ได้รับการรักษา เช่น ภาวะเหม่อลอย วูบ เบลอจำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคลมชักเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าคนทั่วไปถึง 2-6 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะชัก แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยจะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สำหรับการรักษามีทั้งการรับประทานยา และผ่า ตัด ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักดื้อต่อยาที่รักษามากขึ้น
อาการชักที่อยู่ในภาวะวูบ ภาวะเหม่อลอย เป็นเพียงไม่กี่วินาทีแล้วหาย ทำให้ไม่ทันสังเกต ถ้ามีอาการเหล่านี้ซ้ำ ๆ แม้จะไม่มีอาการเกร็ง ชัก กระตุก ควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมทั้งการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) สามารถบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่ ผู้ป่วยโรคลมชักหลายคนมีอา การ เช่น เห็นภาพหมุน เห็นภาพเคลื่อนไหวเร็วกว่าปกติ เห็นแสงจ้าสีสันหลากหลาย บางคนเห็นภาพหลอน หูแว่ว เมื่อได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง จึงพบว่ามีอาการของโรคลมชัก
ประเทศไทยมีการผ่าตัดสมองรักษาโรคลมชัก ปีละประมาณร้อยกว่าราย ซึ่งถือว่าไม่มากถ้าเทียบกับผู้ป่วยที่มีอาการดื้อยาในขณะนี้ที่มีหลายหมื่นคน โดยโรงพยาบาลที่พร้อมทุกด้านในการรักษาโรคลมชักด้วยการผ่าตัดสมองยังมีไม่กี่แห่ง สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง ตลอดจนรับส่งต่อจากทั่วประเทศเพื่อมารักษาที่สถาบันฯ
เปิดขั้นตอนช่วยผู้ป่วย" โรคลมชัก"
ด้านนพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักต้องทำให้ถูกวิธี ที่ผ่านมาพบว่ามีการเอาช้อนหรือสิ่งของต่างๆ ไปงัดปาก เพื่อป้องกันการกัดลิ้นผู้ป่วยซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการเอาสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากผู้ป่วยจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดการสำลัก หรือสิ่งของนั้นหลุดลงไปในหลอดลม เกิดการอุดตัน ในทางเดินหายใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับวิธี ที่ถูกต้องและจดจำง่าย “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด หยุดชักเองได้” โดยให้การช่วยเหลือด้วยการดูแลสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยขณะมีอาการชัก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย เช่นป้องกันไม่ให้พลัดตกจากที่สูง หากมีอาการในบริเวณที่มีการสัญจรไปมาต้องคอยระมัดระวังอุบัติเหตุ
เมื่อผู้ป่วยหยุดชักจึงให้ผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง คลายเสื้อผ้าให้หลวม อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท นอกจากภาวะชักเกร็งกระตุกแล้ว ยังต้องระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการชักเหม่อลอย เนื่องจากเมื่อมีอาการจะไม่รู้สึกตัวและอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น ว่ายน้ำแล้วเกิดจมน้ำ ชักขณะขับรถ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อตนเอง ผู้ร่วมเส้นทางหรือทรัพย์สินได้
ส่วนผู้ป่วยที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากโดยผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ควรจะทำความเข้าใจกับโรคนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ผู้ป่วยโรคลมชักที่มีอาการกำเริบจะมีภาวะชักเกร็ง กระตุก ไม่เกิน 2 นาที แต่หากชักนานถึง 5 นาที ควรรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรแจ้งหมายเลข 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะชักต่อเนื่องไม่หยุด และดื้อต่อการรักษาด้วยยาเพิ่มมากขึ้นด้วย