การเดินทางด้วยระยะทางจาก อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ไปยัง อ.สบเมย ระยะทางเพียงแค่ 45 กม.ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 1 ชม. เนื่องจากเส้นทางอันคดเคี้ยวเลาะเลียบภูเขา ประกอบกับร่องรอยของทางน้ำป่าที่ไหลหลาก ทำให้ดินโคลนถล่มลงมาปิดเส้นทางบางส่วน ยิ่งทำให้การเดินทางต้องใช้เพิ่มความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัย จึงใช้ความเร็วได้ไม่มากนัก
ท่าเรือแม่สามแลบ ให้บริการเดินเรือขึ้น-ล่อง ในแม่น้ำสาละวินตั้งแต่ 08.00 - 17.00 น.
จากนั้นต้องต่อด้วยเรือเพื่อล่องไปตามแม่น้ำสาละวินเลียบแนวฝั่งพรมแดนประเทศเมียนมา ขาขึ้นใช้เวลาประมาณ 45 นาที แต่ในขาล่องใช้เวลาเพิ่มอีกเท่าตัวประมาณ 1.30 -1.45 ชม. เรียกได้ว่า ปัญหาความห่างไกล ยังคงเป็นปัญหาเชิงกายภาพที่ส่งผลกระทบต่อการให้การศึกษาในโรงเรียนชายขอบ จ.แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านสบเมย แห่งนี้
โรงเรียนบ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทย-เมียนมา
โรงเรียนบ้านสบเมย เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 247 คน ตั้งอยู่ติดชายแดนไทยเมียนมา โดยมีแม่น้ำสาละวินเป็นแนวเขตแดนทางธรรมชาติอยู่ด้านหน้าโรงเรียน ขณะที่พื้นที่โดยรอบโอบล้อมด้วยภูเขา ชุมชนโดยรอบประกอบอาชีพเกษตกรรมเป็นส่วนใหญ่
เน้น "อ่านออก-เขียนได้" เป็นหลัก
นายบุญช่วย ขัติยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
นายบุญช่วย ขัติยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเมย เล่าว่า โรงเรียนบ้านสบเมย เปิดสอนโดยรับผิดชอบใน 4 หย่อมหมู่บ้านใกล้เคียงโรงเรียนโดยมีเด็กในพื้นที่ซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวกะเหรี่ยง ปัญหาส่วนใหญ่ คือ การสื่อสารภาษาไทย เนื่องจากในชีวิตประจำวันของเด็กเหล่านี้ ยังใช้ภาษากะเหรี่ยงทำให้ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้
"สังเกตจากชื่อหมู่บ้านแถวนี้ชื่อจะไม่มีแม่ตัวสะกด แม่กบ แม่กด จะไม่มี การพูด ฟังของเด็กก็จะขาดในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งตามนโยบายก็เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้เป็นหลัก " ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเมย กล่าว
น.ส.กัญจนา ปินตาคำ ครูวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านสบเมย
สอดคล้องกับที่ น.ส.กัญจนา ปินตาคำ ครูวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านสบเมย อายุ 23 ปี ที่ระบุว่า ชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ จะใช้ภาษากะเหรี่ยง หรือ ภาษาเผ่าในชีวิตประจำวันภาษาไทยจึงเป็นภาษาที่ 2 ซึ่งเมื่อไม่เข้าใจในภาษาไทย ทำให้การสื่อสารและเรียนรู้ในวิชาอื่นๆ ยากลำบากไปด้วย ดังนั้นในทุกวันจึงต้องให้เด็กฝึกพูด และใช้ภาษาไทยให้ได้มากที่สุด โดยปัญหาด้านภาษาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเด็กเล็กไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
"เราก็ต้องพูดกับเขาบ่อยๆ พยายามให้ใช้ภาษาไทยมากๆ เพราะถ้าเขาคุยกันก็จะพูดภาษากะเหรี่ยงหรือกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวก็จะพูดภาษากะเหรี่ยง ก็ต้องใช้วิธี พูดภาษากะเหรี่ยงแปลเป็นภาษาไทยค่อยๆ สอนเขา" น.ส.กัญจนา กล่าว
ด.ญ.มุธิตา อมรใฝ่สุรีย์ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ประธานนักเรียนโรงเรียนบ้านสบเมย อายุ 12 ปี
ด.ญ.มุธิตา อมรใฝ่สุรีย์ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ประธานนักเรียนโรงเรียนบ้านสบเมย อายุ 12 ปี กล่าวว่า เธอเป็นเด็กนักเรียนในพื้นที่ จึงเรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน อนาคตอยากเป็นหมอ เพื่อที่จะดูแลพ่อแม่ และหลังจบจากโรงเรียนบ้านสบเมย ก็จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนสบเมยวิทยาคม
พื้นที่ห่างไกล - ขาดแคลนไฟฟ้า-อาคาร
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเมย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยปัญหาความห่างไกลและยากลำบากในการเดินผู้ปกครองของเด็กนักเรียน จึงมักที่จะส่งลูกมาเรียนพร้อมกันเมื่อมีพี่ ที่สามารถดูแลน้องได้ ซึ่งโรงเรียนก็มีหอพักนอนจัดไว้ให้รองรับนักเรียนได้ 115 คน แต่ก็ยังมีความคับแคบแม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเรือนหอพักนอนของนักเรียนหญิงที่ต้องใช้เตียง 2 ชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่
ทั้งนี้ โรงเรียนจะเปิด-ปิด การเรียนตามรอบปฏิทินคือใน 1 เดือน จะหยุดประมาณ 5-6 วัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลทั้งครูและนักเรียน ต้องใช้เวลาเฉพาะการเดินทางไป-กลับ รวมแล้ว 2 วัน จึงไม่ได้หยุดเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ เหมือนโรงเรียนทั่วไป รวมถึงด้านความปลอดภัยของนักเรียนด้วยจึงใช้แนวทางนี้แทนการให้นักเรียนเดินทางไป-กลับทุกวัน
หอพักนอน นักเรียนหญิงมีความคับแคบต้องใช้เตียง 2 ชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่
นอกจากนี้ ปัญหาพื้นที่ห่างไกลยังส่งผลกระทบในการประกอบอาหรให้นักเรียนโดยเฉพาะอาหารสดที่เก็บได้ไม่นานนักเนื่องจากไฟฟ้าเข้าไม่ถึง และมีเพียงโซลาร์เซลล์ ซึ่งต้องจำกัดเวลาการใช้และใช้ในการเรียนการสอนเท่านั้น จึงไม่มีมีตู้แช่สำหรับเก็บอาหารสดและผัก
ทั้งนี้การขนส่งอาหารต้องใช้วิธีการจ้างเรือขนส่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากตัว อ.แม่สะเรียง ถึง อ.แม่สามแลบ เป็นเงิน 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าจ้างขนลงเรือ และขนส่งมายังโรงเรียนอีก 700 บาท และค่าเรือขนส่งอีก 1,500 บาท ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต่อเดือนจึงค่อนข้างสูง เบื้องต้นแก้ไขโดยการใช้รถยนต์ส่วนตัวของครูในโรงเรียนช่วย
จัดครูเคลื่อนที่เร็วเติมครูขาด
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดความต่อเนื่องด้านการศึกษา เนื่องจากครูส่วนหนึ่งเป็นครูอัตราจ้าง ซึ่งสอบบรรจุได้ได้ก็ต้องย้ายออกจากพื้นที่ รวมถึงครูที่บรรจุได้เมื่อทราบว่าจะต้องมาบรรจุที่โรงเรียนแห่งนี้ก็ไม่มารายงานตัวเนื่องจากโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
“การเรียกบรรจุแล้วครูไม่มา ตอนนี้จึงแก้ปัญหาโดยจัดหาครูหลักมาช่วยบริหารจัดการ และด้วยระเบียบใหม่ของกระทรวงที่กำหนดครูสอบบรรจุได้จะต้องอยู่ในพื้นที่ขั้นต่ำเวลา 4 ปี จึงคาดว่าการเรียนการสอนจะมีความต่อเนื่องมากขึ้น” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสบเมย กล่าว
ด้านนายจรูญ แสนวิจิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 กล่าวว่า การแก้ปัญหาครูขาดแคลน และการย้ายออกนอกพื้นที่ ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีแนวทางแก้ปัญหาใน 2 แนวทางคือ การบรรจุครูที่เป็นชาวชนเผ่าลงในพื้นที่บ้านเกิด ซึ่งจะช่วยให้ครูอยู่ในพื้นที่ได้นานมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการจัดครูเคลื่อนที่เร็วในส่วนกลางเพื่อพร้อมส่งไปช่วยสอนในโรงเรียนที่มีปัญหาทันทีเมื่อเกิดปัญหาครูขาดแคลน รวมถึงการทำเอ็มโอยูกับหน่วยงานในท้องถิ่นมาช่วยพัฒนาครู
ผู้ปกครองของนักเรียนมักที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนพร้อมกัน หากมีพี่มาเรียนก็จะส่งน้องมาเรียนด้วย
นอกจากนี้ นายจรูญ ยอมรับว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างมีปัญหาคือ การก่อสร้างอาคารในพื้นที่ห่างไกล แม้ว่าทางกระทรวงศึกษาธิการจะจัดสรรงบประมาณมาให้แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของ จ.แม่ฮ่องสอน ที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาจึงทำให้ผู้รับเหมาไม่ต้องการรับงาน หรือรับงานเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ยากลำบากมากนัก เนื่องจากไม่ต้องการแบกรับภาระค่าขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ไปยังโรงเรียนห่างไกล เรื่องนี้ต้องรับเสียงสะท้อนนำไปวางแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
สพฐ.เล็งเพิ่มสวัสดิการ-ค่าตอบแทน ครูดอย
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ ทำแผนจัดหาพื้นที่เหมาะสมในการจัดสร้างโรงเรียนพักนอนเพื่อให้บริการเด็กที่อยู่กระจายในภูเขาสูง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของนักเรียนในหอพัก นอกจากนี้เตรียมเพิ่มสวัสดิการ และค่าตอบแทนให้กับครูที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เนื่องจากโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เขต 2 จำนวนกว่า 140 แห่ง พบว่าจำนวนนี้ 97 โรงเรียน ครูต้องทำงานตลอด 24 ชม.ในพื้นที่ห่างไกล
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้ทุกโรงเรียนในพื้นที่สูงให้มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยเร็วที่สุดเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนในพื้นที่ได้เรียนรู้เท่าทันกับพื้นที่อื่นๆ แก้ปัญหาความยากลำบากในการเดินทาง
รวมทั้งเริ่มการพัฒนาโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร (คูปองพัฒนาครู) โดยจัดการอบรมในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ครูไม่ต้องเดินทางไกล รวมถึงทบทวนหลักเกณฑ์ ในการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนที่จะเน้นคนในพื้นที่เข้าใจในพื้นที่เพื่อให้อยู่กับท้องที่นานขึ้น
"ครูบนพื้นที่ทุรกันดารทำงานตลอด 24 ชม.ต้องสร้างขวัญกำลังใจ คาดว่าจะเพิ่มสวัสดิการค่าตอบแทนให้ ที่ผ่านมาพบว่าส่วนหนึ่งสามารถสอนได้ดี โดยเฉพาะการสอนแบบรวมชั้น ที่ประสบความสำเร็จหลายแห่ง บางโรงเรียนคุณภาพสูงกว่าระดับประเทศทุกกลุ่มวิชาในการสอบโอเน็ต" นายบุญรักษ์ กล่าว
แม้ว่าจะมีความห่างไกล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงไม่หยุดที่จะเดินหน้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการศึกษาให้กับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่อไป
เฉลิมพล แป้นจันทร์ ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน