ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แผงขายไข่ไก่เงียบ คนซื้อน้อยแม้ราคาลดตลอด 2 เดือน

เศรษฐกิจ
14 ธ.ค. 60
20:42
3,838
Logo Thai PBS
แผงขายไข่ไก่เงียบ คนซื้อน้อยแม้ราคาลดตลอด 2 เดือน
ทีมข่าวไทยพีบีเอสลงสำรวจร้านขายไข่ไก่ในตลาดยิ่งเจริญ พบว่าในช่วง 2 เดือน ราคาไข่ไก่ปรับลดลงมาประมาณ 40 สตางค์ต่อฟองแล้ว ซึ่งปีนี้ราคาไข่ไก่ลดลงมากกว่าปีที่แล้ว แม่ค้ายอมรับว่ากำลังซื้อไม่ดี ทำให้ยอดขายไข่ไก่ไม่ดีขึ้น

วันนี้ (14 ธ.ค.2560) น.ส.รุ้งทิพย์ รัตนสมบูรณ์ แม่ค้าขายไข่ไก่ ตลาดยิ่งเจริญ เปิดเผยว่า บรรยากาศซื้อขายค่อนข้างเงียบเหงา แม้ราคาไข่ไก่จะปรับลดลงประมาณ 10 สตางค์ แต่ก็ไม่ทำให้คนซื้อไข่ไก่เพิ่มขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ คนจะบริโภคน้อยลง และกำลังซื้อปีนี้ยังไม่ดี ซึ่งร้านค้าก็ต้องลดการสั่งซื้อไข่ไก่ลง ไม่สต็อคของ ส่วนราคาไข่ไก่ในปีนี้ปรับลดลงมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปริมาณไข่ไก่ออกมามาก ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มปรับลดลงรวม 40 สตางค์ ทำให้ราคาขายปลีกลดลงด้วย แต่คาดการณ์ว่าราคาไข่ไก่จะกลับมาสูงขึ้นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม

น.ส.ณัฐณิชา รอดจิต ผู้บริโภค กล่าวว่า ราคาไข่ไก่ลดลงช่วยประหยัดค่าครองชีพได้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะสินค้าอื่นๆ ยังมีราคาสูงอยู่ จึงบริโภคไข่ไก่เท่าที่จำเป็น

ทั้งนี้ ราคาไข่ไก่เบอร์ 0 ฟองละ 4.50 บาท เบอร์ 1 ฟองละ 4.20 บาท และเบอร์ 4 ฟองละ 3.20 บาท

ผู้ประกอบการรายใหญ่ครองตลาดไข่ไก่ 

กรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า การนำเข้าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ในแต่ละปีใกล้เคียงกัน หนึ่งปีอยู่ที่ประมาณ 564,000 ตัว มีแม่ไก่ยืนกรง หรือไก่วัยเจริญพันธุ์ ประมาณ 50 ล้านตัว ออกไข่ 42 ล้านฟองต่อวัน หนึ่งปีมีไข่ไก่ 15,300 ล้านฟอง แต่ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 คือ ฟาร์มขนาดใหญ่ มีเพียงร้อยละ 10 ที่มาจากฟาร์มเล็กๆ ซึ่งถ้าดูจากจำนวนผู้เลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ทั้งประเทศ กว่า 2,000 ราย จะเห็นว่าจำนวนผู้เลี้ยงรายเล็กๆ มีไม่ได้น้อย แม้จะมีอำนาจในการผลิตน้อยกว่า

งานวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ พบว่า รายย่อยๆ กำลังจะล้มหายตายจากไป เพราะแข่งขันกับใครไม่ได้ เริ่มจากตั้งแต่ลงทุนที่ต้องพึ่งพารายใหญ่เพราะรายใหญ่มีความครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้มีอำนาจคุมทิศทางการแข่งขันในตลาดได้
อาหารสัตว์ เป็นต้นทุนที่สำคัญมาก ซึ่งผู้ที่มีอำนาจในตลาดอาหารสัตว์คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีส่วนแบ่งร้อยละ 32.23 เครือแหลมทอง ร้อยละ 6.27 และเครือเบทาโกรร้อยละ 6.17

ขณะนี้กำลังประสบปัญหาไข่ล้นตลาดราวๆ 150,000 ฟอง แม้ส่วนหนึ่งจะส่งออก แต่ก็เจอปัญหาส่งออกได้เพียง 140 ล้านฟอง ลดลงจากปีที่แล้วที่ 190 ล้านฟอง คนที่ส่งออกได้ก็เป็นรายใหญ่ 3 ราย เมื่อมาประจวบกับในประเทศที่กินลดลง ราคายิ่งตกต่ำ สายป่านรายย่อยๆ ยิ่งบางลง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง