วันนี้ (20 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยอ่าวตัว ก.ความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร เริ่มต้นจากปากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ระบุทั้งแถบกำลังเผชิญวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่ง
ซึ่งตัวอย่างจุดที่หนักหนาที่สุด เน้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบางปะกง อ.ธนาวัตน์ คำนวณจากปัญหาขณะนี้ประเมินว่า 20 ปีข้างหน้า แนวชายฝั่งทะเลจะกินแผ่นดินลึกเข้าไป ประมาณ 1.30 กิโลเมตร ซึ่งถนนสุขุมวิทสายเก่าจะหายไป
และในอีก 50 ปี จะกัดเซาะเข้ามาอีกประมาณ 2.3 กิโลเมตร เวลา 100 ปี แผ่นดินจะหายไปประมาณ 6-8 กิโลเมตร หรือเกือบถึงถนนบางนาตราด
ทั้งนี้ ศ.ธนวัฒน์ ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน และทางแก้ไขที่ยังไม่เห็นผลหรือเห็นผลน้อย ไม่ทันกับปัญการกัดเซาะที่กำลังเกิดขึ้น
"บางปู" จะหายไปจากแผนที่อีก 20 ปีข้างหน้า
วันนี้ (20 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีก 20 ปีข้างหน้า สถานตากอากาศบางปูจะถูกลบไปจากแผนที่ของประเทศไทย เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัญหาโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งจนพื้นที่ริมทะเลหายไป
ชาวบางปูรับรู้ถึงเรื่องนี้ แต่ไม่รู้จะสู้กับธรรมชาติได้อย่างไร เพราะไม่ใช่เฉพาะบางปูเท่านั้น แต่ตลอดแนวถนนสุขุมวิทสายเก่า หรือราว 1.3 กิโลเมตร จากแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยจะหายไปในระยะเวลา 20 ปี และอีก 50 ปี ข้างหน้า แนวชายฝั่งจะรุกเข้ามาอีก 2.3 กิโลเมตร และหากไม่มีมาตรการรับมือที่เป็นรูปธรรม อีก 100 ปี ข้างหน้า แนวชายฝั่งทะเลจะขยับเข้ามาอีก 6- 8 กิโลเมตร นั่นเท่ากับว่าผู้ที่พักอาศัยในย่านถนนบางนา-ตราด อาจได้เห็นทะเลที่หลังบ้านของตัวเอง
ชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจนิ่งนอนใจไม่ได้แล้ว เพราะเหตุน้ำทะเลหนุนสูงจนท่วมหลายพื้นที่ของสมุทรปราการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ยืนยันผลการวิจัยที่ระบุว่าระยะทางกว่า 120 กิโลเมตร ของชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม คือพื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลคุกคามมากที่สุดได้อย่างดี
แผ่นดินในแถบนี้ถูกกลืนหาย เฉลี่ย 20 เมตรต่อปี หนักที่สุดคือ ชายทะเลบางขุนเทียน และแหลมฟ้าผ่า พื้นที่หน้าด่านของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแผ่นดินถูกกลืนหายไปแล้วหลายพันไร่
กรุงเทพมหานครยังมีปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินเฉลี่ยราว 1.3 เซนติเมตรต่อปี ทำให้หลายเขตของกรุงเทพมหานครเวลานี้ ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง หากทะเลยังคงรุกคืบอย่างต่อเนื่อง ข้อกังวลที่ว่ากรุงเทพจะกลายเป็นมหานครจมน้ำก็อาจไม่ไกลเกินจริง
“บ้านขุนสมุทรจีน” ยังถูกกัดเซาะต่อเนื่อง
นางสมร แข่งสมุทร ชาวบ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า บ้านที่เธออาศัยอยู่ในปัจจุบัน เป็นบ้านหลังที่ 8 ที่เธอและครอบครัวย้ายหนีจากปัญหาทะเลกลืนแผ่นดิน ซึ่งเธอหวังว่าบ้านหลังนี้จะเป็นหลังสุดท้าย
“ก่อนที่จะย้ายมาตรงนี้ บ้านเคยโดนพายุลินดา ปี 2540 แต่เป็นบ้าน 2 ชั้น จึงอาศัยอยู่ต่อได้ถึงปี 2542 ย้ายครั้งนี้จึงถอยจากชายฝั่งมาเกือบกิโลกว่า ไม่ปลูกใกล้ชายฝั่งแล้ว เพราะเจอมาแล้ว รู้แล้ว”
กว่า 60 ปีก่อน บ้านของเธออยู่ติดปากอ่าว ห่างจากบ้านหลังนี้ออกไปในทะเลอีก 5 กิโลเมตร แต่เพราะน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จึงต้องย้ายบ้านหนีมาแล้วถึง 7 ครั้ง โดยบ้านหลังนี้ปลูกไว้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน บนโคกสูงมากกว่า 2 เมตร แต่ปัจจุบันกลับถูกน้ำท่วม
วัดขุนสมุทราวาส คือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของชาวขุนสมุทรจีน ซึ่งชาวบ้านที่นี่พยายามรักษาแผ่นดินเอาไว้ให้ยาวนานที่สุด มีการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำเขื่อนกันคลื่น ซึ่งมีทั้งแนวไม้ไผ่ แนวหินทิ้ง และคอนกรีตจากเสาไฟเก่า แล้วปลูกป่าโกงกางไว้ด้านหลัง เพื่อทำหน้าที่ดักตะกอนเพื่อให้เกิดดินงอกใหม่
แม้เนื้อที่ซึ่งได้คืนจากท้องทะเลอยู่บ้าง หลังจากป่าโกงกางฟื้นตัว ทำให้นางสมรและชาวขุนสมุทรจีน มีความหวัง แต่นั่นก็ยังไม่มากพอ เพราะล่าสุดพื้นที่แทบทั้งหมดของบ้านขุนสมุทรจีน ไม่มีบริเวณใดที่ทะเลท่วมไม่ถึง