วันนี้ (25 ธันวาคม 2560) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าในปี 2020 โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการสูญเสียปีสุขภาวะสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจหลอดเลือด โดยวัดจากปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากโรคและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-Adjusted Life Years-DALYs) จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับประเทศไทยถือเป็นปัญหาที่เฝ้าจับตามองอันดับ 4 เป็นเรื่องที่สังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้หากมีอาการรุนแรงจะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย หรือมีชีวิตคล้ายคนพิการทางสมอง ไม่สามารถทำงานได้
กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชนและเพิ่มการเข้าถึงบริการต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถเข้าถึงบริการได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 50 พร้อมกำชับให้เจ้าสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เร่งให้ความรู้ประชาชน ครอบครัว เพื่อให้สามารถสังเกตอาการและเฝ้าระวังความผิดปกติของตนเอง หรือผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ วัยรุ่น ผู้มีโรคประจำตัว และส่งเข้ารับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่ นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ขอให้ประชาชนใช้เวลากับครอบครัวอย่างอบอุ่น สร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันในครอบครัว กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ผู้สูงอายุ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว หรือถูกทอดทิ้ง นอกจากนี้ อาจใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยสร้างความเข้มแข็งของสายใยครอบครัว เช่น ไลน์กลุ่มครอบครัว ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเห็นข้อมูลข่าวสารของลูกหลานและข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ด้วย
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในผู้ที่เริ่มมีอาการจะสามารถสังเกตตนเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรง ครอบครัว ผู้ใกล้ชิด จะต้องช่วยกันสังเกตว่า มีอาการดังต่อไปนี้ 1.มีอารมณ์ซึมเศร้า 2.ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก 3.น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นมาก เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก 4.นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป 5.กระวนกระวายอยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง 6.อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง 7.รู้สึกตนเองไร้ค่า 8.สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด 9.คิดเรื่องการตาย หรือคิดอยากตาย หากพบอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ หรือมีอาการ 5 ข้อ หรือมากกว่า เป็นอยู่นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และมีอาการตลอดเวลาแทบทุกวัน หมายถึงมีภาวะซึมเศร้า ควรได้รับบริการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือพบแพทย์เพื่อการบำบัดรักษา
ทั้งนี้ โรคนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนใหญ่มาจากปัญหา “กาย จิต สังคม” ทางกาย เช่น ผู้ป่วยมีความผิดปกติของระดับสารเคมีที่เซลล์สมองสร้างขึ้นเพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์ มีประวัติโรคซึมเศร้าในครอบครัว ซึ่งการรักษาจะใช้ยาช่วยปรับระดับสารเคมีในสมอง ทางจิตใจผู้ป่วยจะมีความคิดด้านลบกับทุกสิ่ง ในการแก้ไขจะใช้พฤติกรรมบำบัดโดยนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ และทางสังคม จากปัญหาครอบครัว การทำงาน การเรียน ยาเสพติด เป็นต้น ประชาชนสามารถประเมินตนเองด้วยแบบประเมินโรคซึมเศร้าได้ ทางเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต http://www.dmh.go.th/ และแอพพลิเคชัน smilehub หรือปรึกษาสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง