วันนี้ (29 ม.ค.2561) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในวันนี้นัดประชุมหารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ถึงผลกระทบจากค่าแรงขั้นต่ำว่าภาคเอกชนต้องการให้รัฐช่วยอะไรบ้าง โดยเฉพาะการช่วยเหลือในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งผลจากการหารือวันนี้กับภาคเอกชนและมาตรการพัฒนายกระดับผลิตภาพเอสเอ็มอี 4.0 แล้ว จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์และมาตรการความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ ลูกจ้าง นายจ้างและสถานประกอบการ
คสรท.ขอให้ทบทวนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะเดินทางมายังกระทรวงแรงงาน ขอเข้าพบรัฐมนตรีเพื่อชี้แจงประเด็นขอให้ทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างปี 2561 แต่อยากจะให้เปลี่ยนนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 87 เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้สถานประกอบการมีโครงสร้างอัตราค่าจ้างประจำปี ซึ่งจะขึ้นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ค่าครองชีพที่ลูกจ้างอยู่ได้ แต่เป็นค่าจ้างแรกเข้า เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำสูงขึ้นแล้ว ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือก็ต้องปรับสูงขึ้นด้วย เพื่อเป็นแรงงานจูงใจให้แรงงานที่ไม่มีฝีมือ ได้พัฒนาฝีมือของตนเองให้มีทักษะที่สูงขึ้นตามไปด้วย