Wikipedia หาแนวร่วมพัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์

Logo Thai PBS
Wikipedia หาแนวร่วมพัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์

แม้จะเป็นสารานุกรรมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแต่ความอยู่รอดของ Wikipedia ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ใช้ทั่วโลกในการปรับปรุงข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำ มาซึ่งโครงการมากมายเพื่อรักษาความต่อเนื่องของการปรับปรุงเนื้อหาและสร้าง ความหลากหลายของภาษาที่จะนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้อย่างทั่วถึง

การประชุมนานาชาติประจำปีของผู้ใช้ในโครงการวิกิ หรือ วิกิเมเนีย ที่เมืองไฮฟา ประเทศอิสราเอล ระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคมนี้ โดย 1 ในประเด็นในการประชุมคือขั้นตอนอันซับซ้อนในการสร้างบทความตามมาตรฐานของเว็บไซต์ Wikipedia ทำให้ทุกวันนี้สารานุกรรมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญปัญหาจำนวนของอาสาสมัครที่ร่วมพัฒนาเนื้อหาในเว็บไซต์มีจำนวนลดลง

สำหรับ Wikipedia มีอาสาสมัครประมาณ 82,000 รายทั่วโลก ในการร่วมปรับปรุงบทความกว่า 19 ล้านเรื่องใน 270 ภาษา เพื่อรักษาคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์จำเป็นที่ต้องมีการเปิดรับอาสาสมัครหน้าใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาบทความ ซึ่งจิมมี เวล ผู้ก่อตั้ง Wikipedia เผยว่าปัจจุบันทีมผู้ดูแลเว็บไซต์กำลังหาหนทางลดความซับซ้อนในการสร้างบทความบนเว็บไซต์ เพื่อให้ง่ายการเผยแพร่ความรู้ ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดตัวลูกเล่นใหม่อย่าง WikiLove สัญลักษณ์รูปหัวใจที่ใช้ไม่ต่างจากปุ่ม like ของ facebook เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่นักเขียนและดึงดูดผู้ใช้หน้าใหม่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น
 
แม้ Wikipedia จะเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมอันดับ 5 ของโลกด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านครั้งต่อเดือน จิมมี เวล ยอมรับว่าเว็บไซต์ยังมีจุดอ่อนที่ความไม่สมบูรณ์ของเนื้อหาในภาษาจากประเทศกำลังพัฒนา จนมีการขอความร่วมมือกับอาจารย์ในประเทศ อินเดีย, บราซิล และยุโรป เพื่อมอบหมายงานให้นักเรียนนักศึกษาร่วมกันเขียนและดัดแปลงความรู้ด้วยภาษาท้องถิ่นบน Wikipedia ขณะที่ รูเบน ฮิลาเร กิสเป้ อาสาสมัครจากโบลิเวียคือแบบอย่างที่ Wikipedia ต้องการ หลังจากเขาร่วมมือกับเยาวชนในการสร้างเนื้อหาในภาษาไอมาร่าของกลุ่มชาติพันธุ์ในโบลิเวีย ซึ่งสำหรับเขาแล้ว Wikipedia เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ภาษาท้องถิ่นนำมาใช้ถ่ายทอดความรู้ที่ชาวพื้นเมืองเข้าถึงได้

 สำหรับวิกิเมเนียจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2005 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโลกของการแบ่งบันวิทยาการอย่างเสรีของโครงการวิกิ โดยปีนี้มีผู้ร่วมงานมากที่สุดถึง 650 รายจาก 56 ประเทศทั่วโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง