วานนี้ (31 ม.ค.2561) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการนำสืบทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ภายหลังศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ ในคดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการต่อไป
โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้ทรัพย์ และกรมบังคับคดีกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์ แต่หากไม่สามารถนำยึดได้เพราะยังหาไม่เจอ ยังมีระยะเวลาตามอายุความ 10 ปี ให้สามารถดำเนินการติดตามยึดทรัพย์จนกว่าผู้ถูกยึดจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์อีกครั้ง
ส่วนคำสั่งศาลปกครองระบุตอนหนึ่งว่า เป็นเพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน หน่วยงานจะต้องติดตามทรัพย์สินที่ถูกยักย้ายถ่ายเท นายวิษณุระบุว่า เจ้าหนี้ที่เป็นผู้นำยึดทรัพย์ ต้องไปติดตามแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี ไปจัดการ
นายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นอำนาจของหน่วยงานที่มีสิทธิจะดำเนินการยึดทรัพย์ได้ตามคำสั่งมาตรา 44 แต่ทีมทนายความขอว่า ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเช่นนั้น อีกทั้งยังอยู่ในกระบวนการขอให้เพิกถอนคำสั่งชดเชยเงิน 35,000 ล้านบาท จึงขอให้ศาลคุ้มครองเป็นการชั่วคราวไปก่อน
มีรายงานว่าตั้งแต่เดือนก.ค. 2560 เป็นต้นมา กรมบังคับคดี ได้ยึดอายัดทรัพย์สินของน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมกว่า 30 รายการ มีบ้านและที่ดินทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดประมาณสิบแปลง ห้องชุด และอายัดบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี มีเงินหลักล้านบาท
โดยบ้านที่ซอยนวมินทร์ 111 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากที่สุดในบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินฯ ที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ระบุว่า มีราคา 110 ล้านบาท
แต่ทรัพย์สินที่กรมบังคับคดีดำเนินการยึด อายัดไว้ ยังไม่มีการนำทรัพย์สินดังกล่าวขายทอดตลาด แม้ว่าตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจดำเนินการบังคับทางปกครอง ยึดทรัพย์ผู้ต้องรับผิดชอบ ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น กรมบังคับคดีสามารถดำเนินการเอาทรัพย์สินออกขาย ทอดตลาดได้เลยก็ตาม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ศาลปกครองยกคำร้องขอทุเลายึดทรัพย์ "ยิ่งลักษณ์" 35,000 ล้านบาท