ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ฝุ่นพิษ" คลุมเมืองกรุงอีกรอบ เตือนระดับสีเหลืองมีผลกระทบต่อสุขภาพ

สิ่งแวดล้อม
8 ก.พ. 61
09:54
3,619
Logo Thai PBS
"ฝุ่นพิษ" คลุมเมืองกรุงอีกรอบ เตือนระดับสีเหลืองมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ฝุ่นพิษคลุมเมืองกรุงเทพ และปริมณฑลอีกรอบ กรมควบคุมมลพิษ เตือนระดับสีเหลืองมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายจุด เนื่องจากฝุ่น 2.5 เกินค่ามาตรฐานเฝ้าระวังนานนับสัปดาห์ ล่าสุดมีค่าระหว่าง 69-94 มคก./ลบ.ม. เกือบ 2 เท่า ฝุ่น 10 ไมครอน-โอโซนเกินมาตรฐาน

วันนี้ (8 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครหลายจุด ทั้งถนนสายวิภาว ดีรังสิต เขตพญาไท และพื้นที่ปริมณฑล พบว่ามีหมอกลงหนาจัดมากในรอบหลายวันหลังจากตั้งแต่ต้นสัปดาห์ พบว่าค่ามลพิษทางอากาศกลับมาวิกฤติ เนื่องจากอากาศที่เย็นลงทำให้สภาพอากาศปิด

 

ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ หรือคพ.ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลา 8.00 น.โดยพบว่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่ต้องไม่เกิน 50 มคก.ต่อลบ.ม. 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

 

ขณะที่คพ.ยังรายงานว่าสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากสารมลพิษทางอากาศที่ตรวจพบเกินมาตรฐานได้แก่ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 89 - 123 มคก.ต่อลบ.ม.เกินมาตรฐานที่บริเวณต.บางเสาธงอ.บางเสาธง สมุทรปราการ

 

 

ก๊าซโอโซน ตรวจพบค่าระหว่าง 11 - 156 ส่วนในพันล้านส่วน (ppb) เกินมาตรฐานที่บริเวณแขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ, แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพ แขวงวังทองหลาง เขตวัง ทองหลาง กรุงเทพฯ, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง สมุทรปราการ, ต.ตลาด อ.พระประแดง สมุทรปราการ ต.บางเสาธงอ.บางเสาธง สมุทรปราการ ส่งผลให้ระดับดัชนีคุณภาพเป็นสีเหลือง คือมีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

 

ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่ กทม. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้น 88% ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศสะสมเพิ่มขึ้นได้

 

ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และการก่อสร้าง เพื่อที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง