วันนี้ (19 ก.พ.2561) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่าปัจจัยที่ส่งผลให้หมีออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า ได้แก่ แหล่งน้ำแหล่งอาหารลดลง มีการปลูกพืชเกษตรใกล้พื้นที่ป่า และการถูกรบกวนจากกลุ่มคนที่ลักลอบแอบเข้าพื้นที่ป่าห่วงห้าม
ส่วนหมีที่จะออกนอกพื้นที่ป่ามี 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือ หมีที่กลับไม่ถูก ส่วนใหญ่จะเป็นหมีตัวผู้ ที่เข้ามาในชุมชนแล้วอาการเกิดตกใจคนหรือสัตว์ ทำให้เตลิดวิ่งหนีไปที่อื่นๆ เมื่อไปหลายที่ก็ไม่สามารถเดินทางกลับป่าได้
ประเภทที่ 2 คือ หมีแม่ลูกอ่อน ที่มักจะออกมาช่วงข้าวโพดออกฝัก แม่หมีจะพาลูกหมีมากินข้าวโพดและจะกลับเข้าป่า หลังจากเกษตรกรเก็บผลผลิต
ประเภทที่ 3 คือ หมีเลี้ยงที่ถูกปล่อย เจ้าของจะนำมาปล่อยป่า หลังจากหมีมีขนาดใหญ่ขึ้น เลี้ยงไม่ไหว ประกอบกับเจ้าหน้าที่เข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายการครอบครองสัตว์ป่า หมีกลุ่มนี้จะไม่สามารถหากินเองในป่าได้ จึงกลับเข้ามาหาคน
น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า เดิมทีเมื่อมีสัตว์ป่าบุกรุกพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านมักจะใช้วิธีฆ่าเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ แต่หลังจากกรมอุทยานฯ เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและให้แจ้งสายด่วน 1362 ก็พบว่า 5-6 ปีหลังมานี้ ชาวบ้านเลือกแจ้งสายด่วนมากกว่าลงมือจัดการเอง
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มนายพรานที่ยังนิยมล่าหมีเพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มที่นิยมบริโภค โดยมีความเข้าใจผิดว่า การล่าหมีในพื้นที่ชุมชนไม่มีความผิดตามกฎหมาย
“กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยความเข้าใจของกฎหมายที่ผิดว่า เขาไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่า เขาไม่ได้ไปล่าหมีในป่า เขาไม่ผิด การที่เขาอยู่นอกป่าอยู่ในพื้นที่ของเขา หมีออกมาแล้วเขาล่า แสดงว่าไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งแท้จริงแล้ว หมีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือเป็นสัตว์ป่าสงวน กฎหมายจะตามตัวเขาไปเสมอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด”
ทั้งนี้ จุดประสงค์การล่าหมีของนายพราน คือ ต้องการเนื้อ อุ้งตีน หนัง และเขี้ยวไปจำหน่ายให้กับกลุ่มที่นิยมบริโภค ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ดีหมีและอุ้งตีนหมี มีประโยชน์ต่อร่างกายและบำรุงสรรมถภาพทางเพศ
“อุ้งตีนหมี เป็นก้อนไขมัน ที่รองรับน้ำหนัก รองรับแรงกระแทกเวลาเขาเดินในป่า ส่วนใหญ่คนเอาไปตุ๋นกิน ซึ่งไม่ได้มีสรรพคุณ ไม่ได้มีประโยชน์อะไร และผมก็ไม่เคยเห็นหมีมันล้างตีน และตีนก็สกปรกมาก เล็บก็ยาว เพราะฉะนั้นบริเวณอุ้งตีนหมีจะมีพยาธิ การบริโภคเมนูเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะรับพยาธิเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้น ไม่น่ากิน”
อย่างไรก็ตาม นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ แนะนำว่าเรายังควรให้ข้อมูลทางวิชาการกับผู้นิยมบริโภคสัตว์ป่าว่ายังมีอาหารอื่นๆ อีกหลากหลายที่สามารถทำให้ร่างกายแข็งแรงได้ เมื่อไม่มีคนสั่งซื้อ เชื่อว่านายพรานจะหยุดล่า
“วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับหมี ณ เวลานี้ คือ ความเชื่อที่ผิดเพี้ยน ทำยังไงที่จะกล่อมสังคมให้เข้าใจความเชื่อที่ถูกต้องเหมาะสมและไม่ผิดกฎหมาย พื้นที่ป่าไหนที่มีหมี ก็ไม่ต่างกับเสือ ที่เป็นตัวชี้วัดทางธรรมชาติว่าพื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก”
นายดุสิต งอประเสริฐ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เคยรายงานผลการศึกษาประชากรและความหลากหลายของยีนในหมีควายและหมีหมา ณ ผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็นเขาใหญ่ เมื่อปี 2557 ว่า พบหมีควายในพื้นที่เขาใหญ่มีไม่เกิน 300 ตัว หมีหมาไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งข้อข้อมูลนี้เป็นครั้งแรกของการศึกษาจำนวนประชากรหมี ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องมีการเก็บข้อมูลในครั้งที่ 2 เพื่อสำรวจดูว่าจำนวนของหมีลดลงหรือมากขึ้น ท่ามกลางความสูญเสียที่ยังเกิดขึ้นในทุกๆ ปี