วันนี้ (20 ก.พ.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งบประมาณประจำปีที่กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้รับนอกจากเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปแล้ว ส่วนหนึ่งต้องจัดสรร เป็น "เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ" สำหรับสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่พึ่ง สงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว และสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากในประเทศให้กลับภูมิลำเนา เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไป 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่ากรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มีสถิติจ่ายเงินช่วยเหลือไปยังส่วนต่างๆ เช่น นิคมสร้างตนเอง 43 แห่ง, ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 14 แห่ง, สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง และศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 แห่ง
ทั้งนี้ ในปี 2559 ช่วยเหลือ 298,022 คน เป็นเงินกว่า 599.74 ล้านบาท ส่วนในปี 2560 ช่วยเหลือ 246,872 คน งบประมาณกว่า 493.74 ล้านบาท, ปี 2561 (งวดที่ 1) ช่วยเหลือ 137,239 คน เป็นเงินกว่า 274.47 ล้านบาท รวม 3 ปี เป็นงบประมาณ 1,367.96 ล้านบาท หากเทียบกับปี 2560 ที่ถูกระบุว่า มีการทุจริต โดยขอให้ทอนเงิน 30 เปอร์เซ็นต์ กลับมายังข้าราชการระดับสูงคนหนึ่ง เท่ากับว่าจะมีเงินที่ถูกทอนกลับมาประมาณ 150 ล้านบาท
นอกจากนี้ หลังจากมีการร้องเรียนว่ามีการทุจริตงบประมาณจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ มีคำสั่งด่วนมาก เรื่องแนวทางการเบิกจ่ายเงินอุดหนุน ระบุว่า 1.การใช้เงินอุดหนุน ให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด, 2.การจ่ายเงินหรือมอบสิ่งของ ให้มอบในสถานที่ราชการ โดยมีพยานรับรู้, 3.ให้ใช้แบบบันทึกข้อมูลผู้ประสบภัยทางสังคมของกรมฯ, 4.ใบสำคัญรับเงิน ให้กรอกรายละเอียดจำนวนเงินให้ครบถ้วน, 5.ให้ผู้ได้รับลงลายมือชื่อรับเงินด้วยตนเอง หากไม่สามารถเขียนได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือ, 6.ให้บันทึกภาพขณะมอบเงิน หรือสิ่งของ และ 7.ให้สุ่มติดตาม ตรวจสอบ การรับมอบเงินช่วยเหลือ ด้วยการโทรศัพท์หรือไปเยี่ยมบ้าน