เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ใช้เวลากว่า 8 ชม.ในการค้นหาช้าง อายุประมาณ 10 ปี ที่ถูกรถยนต์ชนบาดเจ็บบริเวณขาหลังด้านขวา ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา
แม้วันนี้เจ้าหน้าที่ได้ปรับแผนการค้นหาให้แตกต่างจากทุกวันโดยบีบพิกัดการค้นหาให้อยู่ในวงแคบลงจากรัศมี 7 กม.เหลือไม่ถึง 2 กม.จากจุดเกิดเหตุที่ถูกรถชน แต่ตลอดทั้งวันแม้พบรอยเท้าของช้างในป่าแต่ก็ยังไม่พบช้างที่บาดเจ็บตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัวและเชื่อว่ายังคงหลบซ่อนตัวอยู่ไม่ไกลจากจุดที่เกิดอุบัติเหตุรถชน
ทีมค้นหาช้างได้หยุดปฏิบัติภารกิจเมื่อเวลาประมาณ 18.00 น.ที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มท้องฟ้ามืดหากยังค้นหาต่ออาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและพรุ่งนี้เช้า (26 ก.พ.) จะประเมินสถานการณ์กันใหม่ว่าจะค้นหาต่อไปเป็นวันที่ 5 หรือไม่ หรืออาจจำเป็นต้องยุติการค้นหา
เส้นทางหลักเขาป่าฤาไนมักที่จะมีสัตว์ออกมาเดินบนถนนทุกวันแต่หนึ่งในปัญหาหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ ก็คือ การขับรถด้วยความเร็วกว่า 60 กม. ทั้งนี้ทีมข่าวไทยพีบีเอสพบช้างขนาดใหญ่ปรากฏตัวบนถนนในช่วงกลางคืนในเส้นทางสาย 3076 หรือ 3259 เดิม ถนนที่ตัดผ่านกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึงเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่าง อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา กับ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เส้นทางสายนี้มีช้างและสัตว์ต่างๆ ปรากฏในช่วงเวลากลางวันด้วย โดยช้างบางตัวได้เดินเข้าหารถบรรทุกทำให้รถต้องชะลอ สลับกับหยุดนิ่ง เพื่อความปลอดภัยของทั้งช้างและผู้ขับรถ
ไม่ต่างจากลิงฝูงที่มักจะปรากฏตัวบนถนนและริมไหล่ทางตลอดทั้งวัน รถบางคันต้องจอดเพื่อให้ฝูงลิงปลอดภัย และค่อยๆ ขยับ เพื่อให้ลิงรู้ตัวว่ารถกำลังเคลื่อนที่ ขณะที่รถยนต์บางคันไม่ได้ชะลอและเร่งความเร็วเมื่อต้องผ่านฝูงลิงซึ่งเคลื่อนที่เร็วและเสี่ยงต่อการถูกรถทับหากหลบไม่ทัน จากการสังเกตความเร็วของรถยนต์หลายคันในช่วงที่ทีมข่าวสุ่มบันทึกภาพ บนถนนสายดังกล่าวพบว่า หลายคันขับด้วยความเร็ว เกินกว่า 60 กม.ต่อ ชม.
ในแต่ละวันมีรถยนต์วิ่งผ่านเส้นทางสายนี้ ตั้งแต่เวลา 05.00 - 21.00 น. ตามเวลาที่กำหนดผู้ใช้เส้นทางบางส่วนให้ข้อมูลว่า เคยพบสัตว์บนถนนแต่ใช้วิธีชะลอรถยนต์ หรือ จอด เพื่อป้องกันอันตราย ทั้งจากผู้ขับรถและสัตว์ป่านอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่ทีมข่าวตรวจสอบพบ คือ การให้อาหารสัตว์ริมถนน แม้มีป้ายขนาดใหญ่ติดแจ้งเตือน เนื่องจากจะทำให้สัตว์เคยชินและออกมารออาหารริมถนน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกรถชน หรือ เกิดอุบัติเหตุ