ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พรุ่งนี้ ! ฟ้องศาลปกครองค้านเขตโบราณสถานพิมาย

ภูมิภาค
1 มี.ค. 61
19:27
1,645
Logo Thai PBS
พรุ่งนี้ ! ฟ้องศาลปกครองค้านเขตโบราณสถานพิมาย
วันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) ชาวบ้านพิมาย จะไปยื่นต่อศาลปกครอง กรณีได้รับความเดือดร้อนหากที่ดินทำกิน ต้องกลายเป็นเขตโบราณสถานเมืองพิมาย เนื้อที่กว่า 2,600 ไร่ ของกรมศิลปากร

วันนี้ (1 มี.ค.2561) ป้ายคัดค้านการประกาศเขตที่ดินโบราณสถาน ถูกติดทั่วเมืองพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หลังชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลพิมาย และตำบลในเมือง ได้รับหนังสือการกำหนดแนวเขตโบราณสถานเมืองพิมาย จากกรมศิลปากร เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

โดยระบุว่า อาคาร บ้านเรือน และที่ดิน เนื้อที่กว่า 2,600 ไร่ ถูกกำหนดให้เป็นเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายท หากผู้ที่ครอบครองไม่เห็นด้วย สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 30 วัน

ทำให้ชาวอำเภอพิมายกว่า 300 ครอบครัว เร่งรวบรวมเอกสารหลักฐาน เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการกำหนดแนวเขต เพราะถือเป็นการรอนสิทธิ์ผู้ครอบครองกระทบการค้า การลงทุน และยังทำให้ราคาที่ดินลดลงอีกด้วย

ปราถนา ห่านรุ่งชโรทร ชาวอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ชาวอำเภอพิมาย เคลื่อนไหวคัดค้านการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์อาคารบ้านเรือน เพื่อให้สอดคล้องกับปราสาทหินพิมาย โดยไม่ได้มีการบุกรุกพื้นที่แต่อย่างใด แต่ทางกรมศิลปากรยังคงเดินหน้ากำหนดแนวเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย หากครบกำหนด 30 วัน ชาวบ้านไม่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

เหตุผลต้องประกาศเขตโบราณสถานพิมาย 

การประกาศเขตโบราณสถาน น่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านคัดค้านการประกาศพื้นที่เขตโบราณสถานที่กินพื้นที่เป็นวงกว้าง และเห็นด้วยกับการประกาศเฉพาะตัวปราสาทหินพิมายเท่านั้น สวนทางกับมุมของกรมศิลปากร มีเหตุผลมาอธิบายว่า นอกจากปราสาทแล้ว ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ถูกสร้างมา การพัฒนาต้องไปในทิศทางเดียวกัน สำนักศิลปากรเขต 10 นครราชสีมาให้ข้อมูลว่า ตัวเมืองพิมายถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายตั้งแต่ปี 2479 แนวเขตตามประกาศในครั้งนั้น ครอบคลุมตัวเมืองพิมาย 2.1 ตารางกิโลเมตร

แต่ปราสาทหินพิมาย ยังมีองค์ประกอบหลักของเมืองโบราณอีก 8 อย่าง เช่น เมรุพรหมทัต ประตูชัย สระน้ำโบราณ หรือ บารายทั้ง 4 มุมเมือง ซึ่งชาวขอมโบราณสร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งมากเพียงพอ ที่จะผลักดันให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ ที่เชื่อมโยงอารยธรรมขอมโบราณที่นครวัด-นครธม แต่นั่นหมายถึงการอนุรักษ์ต้องเกิดขึ้นในทิศทางเดียวกัน และต้องกำหนดแนวเขตที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติในการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

 

จากการดูภาพถ่ายทางอากาศ 2497 พบว่า พื้นที่รอยต่อตำบลพิมายกับตำบลในเมือง เป็นบารายเดิม กรมศิลปากรต้องการแนวเขตที่ดินเพิ่มอีก 800 ไร่ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมต้อง 2,600 ไร่

สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปมีอะไรบ้าง เรื่องแรกการเรียกประเภทที่ดิน หากการประกาศเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายทำได้ตามแผนจากที่ดินที่มีโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ชาวบ้าน จะกลายเป็นที่ดินสีน้ำตาลนั่นหมายถึงว่า การก่อสร้าง ต่อเติมอาคาร ที่เคยมีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร รวมถึงผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมาดูแล จากนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร

ผลที่จะตามมาคือโดยมีข้อกำหนดว่า อาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น และสูงไม่เกิน 8 เมตร และรูปแบบจะต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ แต่สิ่งที่กรมศิลปากรยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนแปลงคือ ในเขตที่ดินที่ถูกประกาศนั้น ผู้ครอบครองยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านพักอาศัยเช่นเดิม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง