ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คพ.เฝ้าระวังการรุกน้ำเค็ม คาดปีนี้ปัญหาไม่รุนแรง

สิ่งแวดล้อม
2 มี.ค. 61
16:29
739
Logo Thai PBS
คพ.เฝ้าระวังการรุกน้ำเค็ม คาดปีนี้ปัญหาไม่รุนแรง
คพ.ติดตามสถานการณ์การรุกของน้ำเค็ม 4 แม่น้ำหลักภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง ยังปกติ อัมพวา แม่กลอง น้ำกร่อยเล็กน้อย ต้องระมัดระวังในการนำไปใช้กับพืชสวนบางชนิดที่ทนเค็มน้อย คาดว่าในปีนี้ปัญหาการรุกของน้ำเค็ม อาจไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา

วันนี้ (2 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ติดตามสถานการณ์การรุกของน้ำเค็ม ผลการตรวจวัดค่าความเค็มจากสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำอัตโนมัติ ในช่วงวันที่ 25 ก.พ.– 27ก.พ.ที่ผ่านมา จาก 4 แม่น้ำหลักภาคกลาง พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณวัดดาวคะนอง มีค่าอยู่ระหว่าง 0.18– 0.36 พีพีทีบริเวณอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 0.19– 0.21 พีพีที บริเวณจุดสูบน้ำดิบของการประปานครหลวงที่สำแล จ.ปทุมธานี 0.16 – 0.17 พีพีที ทั้ง 3 จุด ยังมีสภาพเป็นน้ำจืด และที่สำแล ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับผลิตประปา

ส่วนแม่น้ำบางปะกง บริเวณวัดแหลมใต้ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำ 0.57– 0.76 พีพีที เป็นน้ำกร่อยเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตร เพาะปลูกพืช แม่น้ำท่าจีน บริเวณวัดนางสาว อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำ 0.25– 0.30 พีพีที อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรเพาะปลูกพืช แม่น้ำกลอง บริเวณวัดบางนางลี่ใหญ่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำวัดค่าได้ 0.25–7.2 พีพีที


โดยในช่วงน้ำขึ้นมีสภาพเป็นน้ำกร่อยเล็กน้อย ต้องระมัดระวังในการนำไปใช้กับพืชสวนบางชนิดที่ทนเค็มน้อย เช่น ลิ้นจี้ มะนาว ส้ม มะม่วง เป็นต้น ทั้งนี้ น้ำจืดจะมีค่าความเค็มอยู่ระหว่าง 0 – 0.5 พีพีที น้ำกร่อย อยู่ระหว่าง 0.5 – 30 พีพีที และน้ำเค็ม มีค่ามากกว่า 30 พีพีที และน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรเพาะปลูกพืชควรมีค่าความเค็มไม่เกิน 2 พีพีที น้ำที่เหมาะสมสำหรับเป็นน้ำดิบสำหรับผลิตประปาควรมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.25 พีพีที 


นางสุณี กล่าวต่อว่า การรุกของน้ำเค็มเข้าสู่พื้นที่น้ำจืด เกิดจากน้ำทะเลหนุนเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดเป็นระยะทางไกลขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่ปล่อยจากเขื่อนหรือน้ำต้นทุนมีน้อย ทำให้น้ำทะเลหนุนเข้ามามากกว่าปกติโดยเฉพาะในลำน้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำกลอง ซึ่งปัญหาน้ำเค็มรุกในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มรุนแรงขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้เขตพื้นที่การเกษตรหลายจังหวัดที่ใช้น้ำจากระบบชลประทานจากแม่น้ำได้รับผลกระทบ และยังส่งผลกระทบในด้านการอุปโภค – บริโภค ในการนำน้ำดิบจากแม่น้ำไปใช้ในการผลิตน้ำประปา โดยการรุกของน้ำเค็มมักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนม.ค. – พ.ค.

ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้ปัญหาอาจไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในปีนี้มีน้ำเพียงพอ ส่วนลุ่มน้ำบางปะกง ทุกปีจะมีปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นไปถึงจังหวัดปราจีนบุรี แต่ปีนี้มีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี สามารถเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เมื่อปี 2559 เป็นต้นมา ช่วยเสริมศักยภาพการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกงได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง