วันนี้ (13 มี.ค.2561) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ แถลงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าปีนี้ไม่รุนแรงกว่าปี 2559 และปี 2560 เนื่องจากมีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัด
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - 12 มีนาคม 2561 มีจังหวัดประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราว 37 จังหวัด ขณะนี้คงเหลือประกาศ 26 จังหวัด ซึ่งบางจังหวัดมีเพียง 1 จุด และบางจังหวัดมี 2-3 จุด โดยใน 1 จุดมีรัศมี 5 กิโลเมตร ส่วนสถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 มีจำนวน 4 คน น้อยกว่าปี 2560 ที่มีจำนวน 11 คนและปี 2559 จำนวน 13 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงทุกปี
ด้าน น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าว่า มีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อการป้องกันและควบคุมโรค พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคทั้งระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ทำหน้าที่กำหนดแผนการฉีดวัคซีน กำกับติดตาม เสนอแนะและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมทั้งสนับสนุนให้การปฏิบัติงานระดับอำเภอเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงมีการฉีดวัคซีน ทำหมันเพื่อลดประชากรสัตว์
นอกจากนี้จะบังคับใช้กฏหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับคือ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558, พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ในการควบคุมโรค หากมีคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าหรือสัตว์ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จะมีการประกาศโรคระบาดทันทีและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังกล่าวถึงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยแบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสีเขียว ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ไม่น้อยกว่า 2 ปี มีจำนวน 21 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ลำพูน สุโขทัย บึงกาฬ หนองบัวลำภู สกลนคร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สระบุรี ตราด ชุมพร พังงา ภูเก็ต และ จ.นราธิวาส
จังหวัดสีเหลือง เป็นจังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะในสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี มีจำนวน 42 จังหวัด ได้แก่ จ.กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ นครนายก นครปฐม นครพนม นครศรีธรรมราช นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ยะลา ระนอง ราชบุรี เลย สตูล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เชียงราย น่าน และ จ.นครราชสีมา
และจังหวัดสีแดง เป็นจังหวัดที่พบการเกิดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ในระยะเวลา 2 ปี มีจำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สงขลา ระยอง ตาก ศรีสะเกษ กรุงเทพมหานคร สระแก้ว และ จ.ตรัง