วันนี้ (15 มี.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบหลักการร่างพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งกำหนดให้ ก.ล.ต.มีอำนาจกำกับเหมือนหลักทรัพย์ โดยบริษัทผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล และบริษัทตัวกลาง ทั้งรายใหม่และเก่า ต้องมาขึ้นทะเบียนภายใน 6 เดือน
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้หน่วยงานกำกับดูแล และกำหนดนิยามให้เกิดความชัดเจนต่อการใช้นโยบาย ซึ่งแบงก์ชาติยืนยันว่าโดยตลอดว่าสินทรัพย์ประเภทนี้ไม่มีลักษณะตามนิยามกฎหมายเงินตรา แม้มีคำว่า คอยน์ หรือเคอร์เรนซีก็ตาม จึงยังคงกำชับให้สถาบันการเงิน ปฏิบัติตามหนังสือเวียนขอความร่วมมือ ไม่เข้าไปลงทุนซื้อขายเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือลูกค้า ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มรองรับธุรกรรม ไม่ใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อที่อาจนำไปสู่ธุรกรรมดังกล่าว รวมทั้งการให้คำปรึกษาด้วย แต่ให้บริการเดินบัญชีและโอนเงินระหว่างกันได้
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออกกฏหมายมากำกับดูแลทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อไม่ปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่จะบังคับใช้ พร้อมกับการจัดเก็บภาษี จากการซื้อขายสินทรัพย์ดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 7 ยกเว้นบุคคลธรรมดา และหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 หากได้กำไร และปันผลจากการลงทุนดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ พร้อมกำหนดมาตรการพิสูจน์ตัวตน ตามมาตรฐานกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ช่องทางระดมทุนนี้ หลอกลวง หรือฟอกเงินผิดกฎหมาย