วันนี้ (19 มี.ค.2561) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีการเก็บภาษีสุนัข และแมวว่า เป็นเพียงการยกตัวอย่างมาตรการการแก้ปัญหาสุนัขในต่างประเทศ ซึ่งเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขมากกว่า 3 ตัวขึ้นไป จะต้องเสียภาษี แต่ประเทศไทยยังไม่มีแนวคิดนี้ สิ่งที่กระทรวงฯทำได้ขณะนี้คือสร้างความตระหนักให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงดูแลรับผิดชอบสัตว์เลี้ยงและฉีดวัคซีนในสัตว์
ยกตัวอย่างบางประเทศใช้วิธีเก็บภาษีและจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและมีเรื่องภาษีเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นแค่การยกตัวอย่าง และของไทยอาจยังไม่มีมาตรการนี้
ขณะที่ น.สพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะนอกจากจะทำให้ทราบจำนวนสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ ยังสามารถป้องกันควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศในทวีปยุโรป นำมาตรการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงมาใช้ โดยให้แต่ละท้องถิ่นบริหารจัดการเอง และจะนำเงินภาษีมาจ้างพนัก งานที่ดูแลสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะหรือปรับปรุงระบบกล้องวงจรปิด ที่จะบันทึกสัตว์เลี้ยงหนีหายออกจากบ้านหรือไปทำร้ายบุคคลอื่น ซึ่งนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีได้
เชื่อว่ามาตรการทางภาษีจะทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปในที่สาธารณะ และเห็นว่ากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ และคิดว่าช่วยได้เยอะ เราขับเคลื่อนประเทศปลอดภพิษสุขันบา แมวและหมาจรจัดเป็นปัญหาสำคัญ ตรงนี้การเก็บภาษีเป็นส่วนหนึ่งภาพรวมของท้องถิ่น ที่จะทำต้องมาไล่ดูและงบประมาณจะชัดขึ้นมา
นักวิชาการหนุนจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง
ด้าน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่าการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงในต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ อยากอยู่ร่วมกับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีการจัดเก็บเงินกับผู้ที่เต็มใจเลี้ยง และไม่ได้ใช้เงินจากภาษีส่วนรวมของบุคคลทั่วไป ทั้งนี้หากไทย จะจัดเก็บภาษีจริง ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในแต่ละท้องถิ่นจะนำไปทำอะไรและเห็นว่ามาตรการนี้เป็นการจัดระเบียบผู้เลี้ยงสัตว์มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เป็นสิ่งหนึ่งจัดระเบียบการเลี้ยง และคนเลี้ยงต้องรับผิดชอบต่อสังคม และเมื่อเราจะทำอะไรต้องมีสิ่งที่จะต้องยอมเพื่อเสียสละให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งนี้ยังบอกว่าควรนำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ขยายไปยังเมืองใหญ่และชนบท เพราะหากประกาศบังคับใช้ทั้งหมด ก็อาจไม่มีความพร้อมในการดำเนินการ
เจ้าของหมา-แมวแนะฝังไมโครชิปแทนเก็บภาษี
ขณะที่หากสอบถามความเห็นของเจ้าของสัตว์เลี้ยง กลับมีความเห็นต่าง ถ้าเป้าหมายของการเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงคือ การลดปัญหาหมาแมวจรจัด กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์บางส่วน ก็ยังเชื่อว่า ลำพังการเสียภาษีก็อาจจะได้ผลแค่ส่วนหนึ่ง และสิ่งที่พวกเขาเสนอ ดูเหมือนจะพุ่งไปที่สิ่งที่เรียกร้องมานานแต่ยังทำไม่ได้เสียที คือ การขึ้นทะเบียนหมา-แมวฝังชิพ เพื่อติดตามตัว น่าจะทำให้ลดปัญหานี้ได้ดีกว่า
เจ้าถุงเงินหมาพันธุ์บางแก้วตัวนี้ อยู่ภายใต้การดูแลของ นายจิรัฏฐ์ วรวงศากุล มานาน 10 ปีแล้ว จนเกิดความคุ้นชิน รู้จักลักษณะนิสัยของมันเป็นอย่างดี มีประวัติการฉีดวัคซีนและเลี้ยงไว้ภายในบ้าน ไม่ปล่อยให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน แสดงถึงความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์เลี้ยง และหากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิรัฏฐ์ เห็นว่าก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง
เก็บไปแล้วได้ประโยชน์อะไร การเลี้ยงสัตว์แล้วนำมาเก็บภาษี คนเลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยปละละเลย เลี้ยงแล้วตอนเล็กๆชอบ แต่พอโตเอามาปล่อย ผมว่าเป็นจิตสำนึกคน เพราะไม่ใช้ว่าเก็บแล้วจะมีสำนึก ถ้าเขาเลี้ยงดูแลในบ้านอย่างดี และผมไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี ตอนนี้ สังคมเรามีภาระเยอะแล้ว และเสนอว่าหากจะแก้ปัญหาหมา-แมวจรจัด ควรใช้วิธีฝังไมโครชิป ซึ่งสามารถติดตามได้ว่าเจ้าของเป็นใคร และเอาผิดกับผู้นั้น ควบคู่กับการจดทะเบียนตั้งแต่ผู้ค้าไปจนถึงผู้ซื้่อ
ขณะที่มุมมองของครอบครัวบำรุงสวัสดิ์ ที่รับเลี้ยงหมาจรจัดมากถึง 40 ตัว เห็นว่า หากใช้มาตรการทางภาษีมาใช้ อาจกระทบกับผู้เลี้ยงที่มีรายได้น้อย เพราะการดูแลหมาเหล่านี้ มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งการต้องฉีดวัคซีน ดูแลเมื่อเจ็บป่วย และหากภาครัฐบริหารจัดการไม่ดี อาจแก้ปัญหาหมาจรจัดไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ พบหมาถูกนำมาทิ้งอย่างต่อเนื่อง
ศรัณย์ บำรุงสวัสดิ์ ชาวจังหวัดขอนแก่น ขณะที่กลุ่มผู้เลี้ยงหมาส่วนหนึ่งมองว่าหมา ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าคือ หมาที่มีเจ้าของ ดังนั้นสิ่งแรกที่รัฐต้องดำเนินการก่อนคิดเรื่องภาษี คือการขึ้นทะเบียนสุนัขและการควบคุมการเลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสม
น.สพ.นภัสรพี จันที อ.เมืองขอนแก่น กล่าวว่า แม้จะมีข้อบัญญัติเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข ภายใต้กฎหมายการสาธารณสุข ปี 2535 เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์และการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ แต่ทางปฏิบัตินั้นไม่สำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้นหากจะนำมาตรการจัดเก็บภาษีมาใช้ ก็ต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น