ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบครั้งแรก! สารออกฤทธิ์หลอนประสาทผสมผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก

สังคม
27 มี.ค. 61
12:51
757
Logo Thai PBS
พบครั้งแรก! สารออกฤทธิ์หลอนประสาทผสมผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพบสาร Desoxy-D2PM แอบผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทลดน้ำหนัก พบครั้งแรกในไทยเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เตรียมทบทวนกฎหมาย พร้อมแจ้งเตือนอันตราย

วันนี้ (27 มี.ค.2561) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เมื่อเดือนก.ย.2560 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นำส่งทางไปรษณีย์ จากผู้ใช้บริการภาคเอกชน จ.สมุทรสาครจำนวน 1 ตัวอย่าง มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาวบรรจุในแคปซูล สีเขียวอมฟ้าระบุอักษรและตัวเลข “Chô12”อยู่ในแผงบรรจุละ 10 แคปซูล บนแผงพิมพ์ข้อมูลระบุ “Chô12” รุ่นที่ผลิต 10061601 วันที่ผลิต 10.06.16 วันหมดอายุ 09.06.18

ผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสาร D2PM และ 2-DPMP ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท กดความอยากอาหาร และทำให้เคลิบเคลิ้ม ทั้งนี้สาร Desoxy-D2PM ยังไม่มีการศึกษาด้านการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แน่ชัด แต่มีรายงานการได้รับสารนี้แล้วมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

นายแพทย์สุขุม กล่าวว่า สารกลุ่มนี้มักถูกนำมาใช้ในรูปแบบสารเสพติดสังเคราะห์เพื่อทดแทนและหลีกเลี่ยงสารที่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย มีชื่อเรียกอื่น เช่น Ivory Wave, A3A New Generation, A3A Methano และ Green Powder ในประเทศสหราชอาณาจักรได้จัดให้สาร Desoxy-D2PM เป็นยาควบคุมภายใต้ The Misuse of Drug Act 1971 ในกลุ่ม B ซึ่งเป็นกลุ่มยาควบคุมเดียวกับแอมเฟตามีน  แคนนาบินอล และอนุพันธ์แคนนาบิส โคดีอีน และคีตามีน เนื่องจากพบว่ามีการออกฤทธิ์ผลข้างเคียงและความเสี่ยงเทียบเท่ากัน แต่ประเทศไทยยังไม่การกำหนดให้สาร Desoxy-D2PM เป็นสารควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือประกาศตามกฎหมายอื่น

 

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

การตรวจพบสาร Desoxy-D2PM ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถือเป็นข้อมูลทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้ม ความเสี่ยงที่จะนำสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่ยังไม่ถูกควบคุมตามกฎหมายในประเทศไทย มาใช้ปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทลดน้ำหนัก

และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสังคมโดยรวมได้ ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะได้ส่งข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก และพิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงและอันตราย 

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ภาพ:กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง