ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส.อ.ท.ถกแนวทางรับมือ หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้า 36%

เศรษฐกิจ
4 เม.ย. 68
17:57
87
Logo Thai PBS
ส.อ.ท.ถกแนวทางรับมือ หลัง "ทรัมป์" ขึ้นภาษีนำเข้า 36%
ส.อ.ท. เรียกกลุ่มอุตฯ ถกแนวทางรับมือหลังทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าไทย 36%

วันนี้ (4 เม.ย.2568) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดประชุมเร่งด่วนร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางรับมือหลังทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% ณ ห้องประชุม ชั้น 10 ส.อ.ท.

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการเรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อระดมสมองหามาตรการต่าง ๆ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท ในที่ประชุม ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้

อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers -NTB)

1. อัตราภาษีสูงและข้อจำกัดด้านการนำเข้า

• สินค้าเกษตร: อัตราภาษีนำเข้าสูงในสินค้าเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์นมและอาหารแปรรูป

• ยานยนต์และชิ้นส่วน: เผชิญภาษีนำเข้าสูง

• เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ภาษีนำเข้าไวน์สูงถึง 400%

2. มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Measures)

• จำกัดการนำเข้าเนื้อวัวที่มีอายุมากกว่า 30 เดือน (BSE)

• ห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine)

• ห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากบางรัฐของสหรัฐฯ (HPAI)

3. ขั้นตอนศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

• กระบวนการศุลกากรซับซ้อน ประเมินมูลค่าไม่แน่นอน มีความเสี่ยงในการทุจริต

อุปสรรคด้านการลงทุน

1. ข้อจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA)

• ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ในภาคบริการการเกษตร และโทรคมนาคม

2. ข้อจำกัดด้านการเปิดเสรีการลงทุน

• แม้ BOI ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ยังมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนในการขออนุญาต

3. การค้าดิจิทัลและข้อกําหนดด้านข้อมูล (Digital Trade & Data Localization)

• พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ข้อมูลบางประเภทต้องถูกจัดเก็บในไทย

• ข้อจำกัดการถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดน สร้างความไม่แน่นอนต่อบริษัท Fintech และ Cloud

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP Protection)

1. ประเทศไทยอยู่ใน "บัญชีเฝ้าระวังพิเศษ" (Special 301 Watch List)

2. ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เว็บไซต์ผิด กฎหมายส่งผลเสียต่อผู้ผลิตเนื้อหาสหรัฐฯ

3. สินค้าลอกเลียนแบบ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

4. การบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ

อุปสรรคด้านการค้าเกษตร

1. ข้อจำกัดเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชและพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ระบบใบอนุญาตนำเข้าและโควต้ากระบวนการยุ่งยาก โดยเฉพาะเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์จากนม

สำหรับ 20 อันดับมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากไทย ปี 2567 ได้แก่ อาหารสุนัขหรือแมว ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ วงจรอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรวมถึงคอมพิวเตอร์ที่พกพาได้ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่รวมถึงคอมพิวเตอร์ที่พกพาได้ และอุปกรณ์หน่วยเก็บความจำชนิดโซลิดสเตท

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลัก

มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือน มี.ค.2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง

อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5,000 - 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด

อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชาถูกเก็บภาษีสูงกว่าทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น

ในขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้

นอกจากนี้ วานนี้ ส.อ.ท. ยังได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐฯ อาทิ
1. เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยจะเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากยิ่งขึ้น

2. แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐฯ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น

3. ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น

4. ทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง

ทั้งนี้ นายเกรียงไกร ได้มอบหมายให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่า ได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด และหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท.จะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และเสนอแนวทางให้แก่รัฐบาลเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมเจรจา เพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ

เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน

อ่านข่าว : ทรัมป์ขึ้นภาษี 54% ปลุกมังกรจีนตื่นพร้อม "กลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุน" 

สงครามเศรษฐกิจโลก “ระเบิด” ไทยต้องสู้ (ทรัมป์) แบบ “มดแดง”  

"ทรัมป์" รีดภาษีทำผู้ผลิตรถยนต์ปลดคน-ระงับการผลิตบางส่วน 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง