วันนี้ (10 เม.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนการปฏิรูปประเทศ 11 เรื่อง ลงประกาศ ณ วันที่ 6 เม.ย.ปี 2561
โดยเนื้อหาในหน้า 34 ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ระบุว่า ให้มีการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายเวลาการทำงานและค่อยๆ ขยายเวลาเป็น 2 ปี ขยาย 1 ปี จะไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ทดแทนคนที่เกษียณอายุ โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย
สำหรับวิธีการ กำหนดให้ 1.ศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุเกษียณ และ 2.แก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญให้ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี ผู้รับผิดชอบหลักคือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีเป้าหมายคือ ข้าราชการ, พนักงาน, รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุที่ 63 ปี ในปี 2567 และมีตัวชี้วัดเป็นข้าราชการ, พนักงาน, รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีศักยภาพมีอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปี ในทุกๆ 2 ปี กระทั่งปี 2567
ขณะที่ก่อนหน้านี้นายวิเชียร ชวลิต กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผู้เสนอแนวคิดให้ขยายเวลาวัยเกษียณอายุราชการออกไป จากอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี ยอมรับว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงต้องรองรับให้ผู้สูงอายุมีงานทำ จากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแล เพราะการให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่จะไม่ทำให้ผู้สูงอายุ อยู่บ้านจนกลายเป็นคนป่วย เหงา ซึมเศร้า ซึ่งการเพิ่มอายุการทำงานให้ นอกจากจะได้อยู่ร่วมในสังคมแล้ว ยังสะท้อนได้ว่า ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีอีกด้วย จึงมองว่าทำอย่างไรผู้สูงอายุจึงจะมีโอกาสทำงานในบั้นปลายชีวิต
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทยปี 2559 ของกรมการปกครองพบว่า จังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดจาก 5 อันดับ คือ กรุงเทพมหานครมี 936,865 คน รองมาคือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะที่ประชากรผู้สูงอายุที่น้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง มี 23,543 คน
ด้านสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณว่าในปี 2561 เป็นปีแรกที่ประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าวัยเด็กหลายแสนคน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และมีสัดสวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และในปี 2579 ประชาชนจะมีจำนวนน้อยกว่าในปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 สร้างภาระการพึ่งพิงวัยแรงงานในการดูแลวัยเด็กและผู้สูงอายุ