ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แผ่นดินอาบยาพิษจะหยุดได้หรือไม่?

สิ่งแวดล้อม
11 เม.ย. 61
10:34
1,311
Logo Thai PBS
แผ่นดินอาบยาพิษจะหยุดได้หรือไม่?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขียนในเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เมี่อกระทรวงเกษรฯ ระบุว่า ยาฆ่าหญ้า วัชชพืช ไม่มีหลักฐานว่าอันตรายต่อมนุษย์และกำลังจะมีคณะอนุกรรมการตัดสินในเดือนเม.ย.นี

เป็นเรื่องประหลาดใจเมื่อค้นข้อมูลโดยใช้เวลาไม่มาก ปรากฏว่ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และทางการแพทย์มากมาย ทั้งที่มีการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้และเป็นการศึกษาในห้องปฏิบัติการในระดับเซลล์และในระดับยีนส์พบตรงกันว่าสารเหล่านี้มีพิษในระยะยาวและก่อให้เกิดโรคทางสมองที่รักษาไม่ได้. ได้แก่โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และอาจจะเกี่ยวพันกับมะเร็ง

นอกจากนั้น ในปี 1985 ขณะที่ผมอยู่ที่โรงพยาบาลจอห์นส ฮอปกินส์ ได้ฟังการบรรยายจากผู้ที่ค้นพบว่าสาร MPTP สามารถทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอย่างเฉียบพลันได้ ทั้งนี้โดยการสืบสวนจากผู้ป่วยที่ติดเฮโรอีนและได้ไปฉีดเฮโรอีนสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่ผลิตขึ้นโดยคนสมองใส โดยที่สารสังเคราะห์ตัวใหม่ปนเปื้อนด้วยสาร MPTP ซึ่งเลือกเจาะจงทำลายเซลล์ประสาทที่บริเวณก้านสมองส่วนบนซึ่งมีหน้าที่สร้างสาร โดปามีน และสาร MPTP นี่เองมีโครงสร้างเหมือนกับยาฆ่าหญ้าพาราควอท

การที่มีการทำลายเซลล์สมองที่ตำแหน่งนี้จะทำให้เหมือนกับขาดน้ำมันหล่อลื่นทำให้เกิดอาการแข็งเกร็งเคลื่อนไหวช้า โดยที่อาจมีอาการสั่นร่วมด้วยและถ้าโรครุนแรงจะถึงกับเคลื่อนไหวไม่ได้

และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีการเฝ้าติดตามผู้ที่สัมผัสกับยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา โดยมีรายงานที่เปรียบเทียบผลจากรายงานที่มีมาก่อนหน้านั้นทางสถิติและพบว่า ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้าและวัชพืชเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคพาร์กินสัน เพิ่มขึ้น

ในปี 2006 มีการรายงานผลจากการติดตามผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ในการติดตามเป็นเวลาเก้าปี และสรุปผลว่า มีความเสี่ยงจากการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นถึง 70 % และในเวลาต่อมาได้พิสูจน์ว่าพาราควอท เป็นตัวสำคัญและทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า

ในรายงานจากสมาคมแพทย์ทางระบบประสาทของสหรัฐ หลายรายงาน ในปี 2011 โดยที่ 17 ใน 19 รายงาน มีผลสรุปตรงกันว่าเพิ่มความเสี่ยงขึ้นสามเท่าและในปี 2013มีการตีพิมพ์รายงานเป็น 100 ชิ้นจากทั่วโลกซึ่งมีข้อสรุปตรงกันในการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นจากสารเคมีเหล่านี้

รวมทั้งการวิเคราะห์จากรายงานต่างๆ เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคพาร์กินสันและการที่มีความเปลี่ยนแปลงในระดับยีนส์ เมื่อมีการสัมผัสหรือปนเปื้อนยาฆ่าหญ้าและวัชพืชในสิ่งแวดล้อมและพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสารเคมีที่ปนเปื้อนเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในการเกิดโรคพาร์กินสัน

รายงานสรุปในวารสาร Scientific Amercan. 2014 ได้กล่าวถึงกลไกในการทำลายเซลล์ประสาทโดยที่อาจจะเกิดจากการที่มีการสร้างอนุมูลอิสระพิษมากขึ้น และโดยอาจที่ผ่านกลไกในการยับยั้งเอนไซม์ ALDH ซึ่งมีหน้าที่ในกระบวนการเมตาบอลิซม ของไขมันโปรตีนรวมทั้งของเสียเช่นแอลกอฮอล์ และทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับคนที่มียีนส์ของ ALDH ผิดแผกแตกต่างกันออกไปยิ่งจะทำให้หน้าที่ในการทำงานเสียยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อไปเจอกับสารเคมีฆ่าหญ้าและวัชพืชเหล่านี้

หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเอนไซม์นี้ คือการสลายพิษของ DOPAL ซึ่งเป็นผลผลิตของโดปามีน และจะเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อยเรื่อยจนไปทำลายเซลล์ประสาทที่สร้างโดปามีน

จากการค้นพบดังกล่าว จึงได้มีการศึกษายาฆ่าหญ้า 26 ชนิดที่มีการจำหน่าย โดยที่ 11 ชนิดมีฤทธ์ในการยับยั้งเอ็นโซม์ ดังกล่าว โดยที่แปดใน 11 ชนิดมีการใช้อยู่ในแถบของแคลิฟอร์เนียซึ่งมีผู้ที่เกิดเป็นพาร์กินสันในการศึกษานี้

และอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2018 มีการศึกษาโดยใช้พยาธิ์ตัวกลมซึ่งมีกระจุกประสาทแบบเดียวกันกับคน และพบว่าสารพาราควอทและไกลโฟเสท มีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีน

นอกจากนั้นในปี 2017 มีการรวบรวมรายงานทั้งหมดในคนและทำการพิเคราะห์ในเชิงสถิติจากผลงานการศึกษาที่ผ่านมาถ้าสามารถได้ข้อสรุปชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหญ้ากับการเกิดโรคพาร์กินสัน

สารพาราควอทถูกแบนใน 48 ประเทศในเอเชียซึ่งรวมทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแต่ไม่ให้ใช้มีการแบนประเทศลาว เขมร เวียดนาม ศรีลังกา

เรื่องยาฆ่าหญ้าเหล่านี้พวกเราที่เรียนหมอจะเห็น คนตายอย่างทรมานหลายราย ที่พลาดสัมผัสผิวหนังหรือกินโดยอุบัติเหตุและตายทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืดตับวายและไตวาย

ต่อมามีการใช้โดยให้มีการปกปิดร่างกายมิดชิดแต่ก็ยังมีการสัมผัสผิวหนังและตกค้างอยู่ในไร่นา. ในน้ำที่ขัง ชาวไร่ชาวสวนย่ำน้ำที่มีสารปนเปื้อนเหล่านี้

เฉพาะที่จังหวัหนองบัวลำภูที่โรงพยาบาลจังหวัดมีคนไข้ 100 กว่ารายในหนึ่งปีและเสียชีวิต 6 รายด้วยขาเน่าและมีติดเชื้อซ้ำซ้อน หลายรายต้องตัดขาทิ้ง

ในประเทศสหรัฐอเมริกาทีมีประกาศในปัจจุบันนี้จัดพาราควอท ให้เป็นยาพิษที่ร้ายแรงที่สุดในมนุษย์และไม่มียาแก้พิษ การที่เกษตรกรในสหรัฐจะนำไปใช้จะต้องได้รับการอบรมอย่างเข้มงวดและจะต้องมีการขึ้นทะเบียน นอกจากนั้นยังมีการตรวจสอบเป็นระยะ

ถ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อต่ออายุหรือไม่ยังคงประกาศว่าไม่มีหลักฐานถึงอันตรายที่มีต่อมนุษย์ก็อาจจำเป็นต้องอธิบายว่าทำไมประเทศต่างๆเกือบ 50 ประเทศไม่ให้มีการใช้สารพิษเหล่านี้

จริงอยู่อันตรายจะลดน้อยลงมากถ้าการใช้มีการระหว่างขั้นสูงสุดในการปกปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสัมผัสแต่ถ้ามีการเลินเล่อหรืออุบัติเหตุ จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือเกิดโรคทางสมองในภายหลังและยังต้องคำนึงถึงการตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อมรวมกระทั่งถึงในพืชผักผลไม้ที่คนไทยทั้งประเทศต้องกินและต้องเผชิญกับโรคที่รักษาไม่ได้เลยในอนาคต

คุ้มแล้วหรือและไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือที่ปลอดภัยกว่าทั้งๆที่รู้ว่ามีอันตรายแฝงอยู่ตลอดมาเกือบ 20 ปี

ทำไมประเทศเวียดนามห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าแบบนี้แต่ผลผลิตข้าวต่อไร่สูงกว่าไทยอย่างน่าใจหายและพันธุ์ข้าวยังสามารถทนน้ำท่วมได้ไม่ตาย

ความจริงถ้าคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอย่างไรที่จะหาผลิตภัณฑ์มาทดแทนทางกระทรวงน่าจะไปขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเวียดนามมากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง