ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชีวิต (หนี้ ) "แรงงานไทย"ยุค 4.0

สังคม
1 พ.ค. 61
12:34
2,044
Logo Thai PBS
ชีวิต (หนี้ ) "แรงงานไทย"ยุค 4.0
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจชีวิตแรงงานไทย ยังมีหนี้สินครัวเรือนพุ่งในรอบ 10 ปี เฉลี่ยรายได้ 15,000 บาท เป็นหนี้ กว่า 137,000 บาท ไม่มีเงินออม สวนทางกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ขึ้นเมื่อ 1 เม.ย.นี้ เฉลี่ย 5-22 บาท ยอมรับกังวลภาระค่าใช้จ่าย

วันนี้ (1 พ.ค.2561) วันแรงงานแห่งชาติ "กรุงเทพโพลล์” ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำ รวจเห็นประชาชน เรื่อง “ความในใจของแรงงานไทย 4.0” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุง เทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 1,045 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 64.3 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 308-330 บาทโดยปรับขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 35.7 ยังไม่ทราบ

ร้อยละ 59.6 ระบุได้รับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ร้อยละ 40.4 ยังไม่ได้รับ ร้อยละ 52.7 มีความสุขกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปี ติดต่อกัน อยากให้ขึ้นแบบนี้ทุกๆปี ส่วนร้อยละ 35.7 รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ร้อยละ 11.6 รู้สึกแย่ คิดว่าน่าจะขึ้นมากกว่านี้ ส่วนร้อยละ 62.3 อยากกลับไปทำงานที่บ้านเกิด หลังการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำไปทั่วทุกภูมิภาค ขณะที่ ร้อยละ 37.7 ไม่อยากกลับ เพราะในกทม.และปริมณฑลมีสวัสดิการดีกว่า

 

 

ผลสำรวจชี้ว่า ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.9 ระบุ ค่าแรงขั้นต่ำ ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ยืมเพิ่ม ขณะที่ร้อยละ 30.9 ระบุว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม ส่วนร้อยละ 29.2 ระบุว่า พอดีกับค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ขณะเดียวกัน ร้อยละ 85.5 กังวลว่า หลังจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 ปีติดต่อกัน ข้าวของจะราคาแพงขึ้น เพราะต้นทุนผู้ประกอบการสูงมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 25.1 กังวลว่าค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ขึ้นอีกหลายปี และร้อยละ 19.8 กังวลว่าแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน

เสียงสะท้อนแรงงานไทยไร้เงินเก็บออม

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ชีวิตแรงงานไทย หลายคนยอมรับว่ายังมีภาระค่าใช้จ่ายและมีหนี้สิน สอดคล้องกับผลสำรวจ ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบแรงงานไทยที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่ละครัวเรือนมีหนี้สินราว 137,000 บาท ซึ่งแรงงานส่วนมาก 96% ยังประสบปัญหาหนี้สินสูงที่สุดในรอบ 10 ปีไม่มีเงินออม 

นายปฏิญาณ ก้าวด่านจาก อายุ 26 ปี พนักงานช่างเชื่อมเหล็กในไซด์งานก่อสร้างแห่งหนึ่ง บอกว่า ทุกทุกวันนี้ทำงานวันละ 7-8 ชั่วโมง เป็นช่างเชื่อมเหล็ก ติดกระจก ได้รับค่าแรงวันละ 400 กว่าบาทต่อวัน เดือนหนึ่งก็ตกอยู่ที่ 12,000 บาทแม้การทำงานจนเหนื่อยแต่ก็ไม่มีสิทธิ์มานั่งบ่น เพราะด้วยมีภาระที่ต้องจัดการ ทำงานทำงานหาเงินส่งให้ลูก 3 คน ที่อยู่ต่างจังหวัด ได้เรียนหนังสือ

 นายปฎิญาณ ก้าวด่าน ช่างติดตั้งแผงกันตก

นายปฎิญาณ ก้าวด่าน ช่างติดตั้งแผงกันตก

นายปฎิญาณ ก้าวด่าน ช่างติดตั้งแผงกันตก

 

เรื่องค่าใช้จ่าย ก็เยอะ ภาระทั้งลูก ทั้งการซื้ออยู่ ซื้อกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน มันก็ลำบากอยู่แต่เราก็ประหยัดเอา ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นตอนนี้ 400 บาท ถือว่าสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่หากเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายประจำวัน เฉลี่ยอยู่ที่วันละเกือบ 200 บาท คิดว่าส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็ยังไม่เพียงพอ สำหรับการดำรงชีพปัจจุบันอยู่ดีข้าวของเครื่องใช้ก็แพงขึ้นตาม เฉลี่ยแล้วก็สมดุลกัน คิดว่าก็ไม่ได้มีอะไร เปลี่ยนแปลงมากนัก

นายมงคล บุญครอบ อายุ 49 ปี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บอกว่า รับค่าแรงรายวันละ 400 กว่าบาท ก็พอนะแต่เราต้องทำงาน ค่าใช้จ่ายตอนนี้อุปกรณ์ ของบางอย่างก็แพงขึ้นเรื่อยๆ พอดี พอกิน แต่ว่าไม่มีเก็บ  เงินออมก็เก็บไม่ทัน ต้องจ่ายค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน บางทีส่งให้แม่ค่ารักษาพยาบาล เพราะเขาแก่แล้ว ยายอีก ค่าใช้จ่ายเยอะเหมือนกัน ยอมรับว่าไม่พอ

นายชาญชัย พานาดา อาชีพก่อสร้าง

นายชาญชัย พานาดา อาชีพก่อสร้าง

นายชาญชัย พานาดา อาชีพก่อสร้าง

 

ด้านนายชาญชัย พานาดา ยึดอาชีพแรงงานก่อสร้างมาเกือบ 20 ปีกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง บอกว่า ปกติทำงานวันละ 9 ชั่วโมง ทำงานมา 20 ปี ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบแล้วก็ดีกว่ายุคก่อน มันขึ้นอยู่กับเรา เรื่องการใช้จ่าย จะต้องรู้จักแบ่งสัดส่วน ถ้าค่าแรงน้อย กินน้อย ค่าแรงเยอะกินเยอะ พัวพันกันแบบนี้ ถ้าเราประหยัดก็อยู่ได้ แต่ถ้ากินเยอะก็อยู่ไม่ได้ สมมติค่าแรง 600 บาทแต่กิน 700 บาทก็หมดแล้ว 

 

บุญเพ็ญ นาโพวงค์ แม่ค้าส้มตำ

บุญเพ็ญ นาโพวงค์ แม่ค้าส้มตำ

บุญเพ็ญ นาโพวงค์ แม่ค้าส้มตำ

ส่วนนางบุญเพ็ญ นาโพวงค์ อายุ 53 ปี เคยเป็นสาวโรงงาน แต่พลิกผันชีวิตมาเป็น แม่ค้าขายส้มตำ ข้างสถานีตำรวจหลักสี่  บอกว่า เคยทำงาน เป็นสาวโรงงานเมื่อหลายปีก่อน แต่ด้วยมีภาระมีลูกที่ต้องส่งเสียให้เราเรียนทำให้ค่าใช้จ่ายมีไม่เพียงพอ ค่าเช่าบ้าน ค่าลูกเรียน ก็เลยเปลี่ยนอาชีพเป็นค้าขาย บางวันก็ได้บางวันก็ไม่ได้

อย่างน้อยเราได้วันละ 500 บาทก็พออยู่ได้ แต่ว่าอาชีพประจำลูกจ้างประจำ มันก็ไม่ได้ พอตอนนั้นพยายามเก็บออม โดยการแบ่งเงิน 10 -20 บาท บางเดือนได้โอที ก็ได้เพิ่มจาก 305 บาท เป็น 330 -340 บาท ก็ค่อยประหยัดไป ตอนนั้นโอทีชั่วโมงละ 10 บาท จากปกติต้องทำ 8- 9 ชั่วโมงก็กลายเป็น 11-12 ชั่วโมง ถึงจะได้เงินเพิ่ม เหนื่อยแต่ก็ต้องทน เลยเปลี่ยนอาชีพเป็นแม่ค้า ก็ได้อยู่อย่างน้อยน้อยก็ได้วันละ 5 00 -700 บาท พอได้ส่งลูกเรียนหนังสือได้ 

การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับแรงงาน แม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำ จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ค่อยมีผลทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะพวกเขายังต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ที่เพิ่มขึ้นตามมา  

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง