การชี้แจงทั้ง 2 ครั้ง อาจจะสังเกตว่าไม่มีถ้อยคำไหนเลยที่นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธการกลับมาทำงานการเมืองร่วมกับอดีตนักการเมืองและยังเปรียบเทียบการโยกย้ายของกลุ่มการเมืองเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมานาน ถ้าดีลการเมืองระหว่าง คสช.และกลุ่มการเมืองสำเร็จแล้วจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้น่าเชื่อว่ามี 8 กลุ่มนี้จะร่วมงานกับ คสช.แต่ละกลุ่มล้วนมี อดีต ส.ส.อยู่ในมือ ดูผลการเลือกตั้งปี 2554 ทั้งบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต
พรรคภูมิใจไทยหรือกลุ่มเพื่อนเนวินมี 25 ที่นั่ง ที่จริงครั้งนั้นได้ 34 ที่นั่ง แต่ต้องหักกลุ่มมัชฌิมาออกไป 9 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของนายวราวุธ ศิลปอาชา ปี 2554 มี 19 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนากลุ่มของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 7 ที่นั่ง พรรคพลังชล กลุ่มของนายสนธยา คุณปลื้ม 7 ที่นั่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มมัชฌิมา 9 ที่นั่ง นายสุชาติ ตันเจริญ กลุ่มบ้านริมน้ำมีอดีต ส.ส.ในมือ 3-5 ที่นั่ง
ตระกูลสะสมทรัพย์ของนายไชยา สะสมทรัพย์ ครองพื้นที่ จ.นครปฐม มีอยู่ 5 ที่นั่ง และสุดท้ายกลุ่ม กปปส.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ที่เป็นสายตรงของนายสุเทพมีอยู่ 6 ที่นั่ง
2 พรรคใหญ่อย่างภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาประเมินกันว่า จะจับมือตั้งรัฐบาลกับ คสช.หลังการเลือกตั้ง นอกนั้นที่เป็นกลุ่มก๊วนย่อยๆ จะดึงเข้ามาลงเลือกตั้งในนามพรรค คสช.เลย เมื่อรวมเสียงในอดีตทั้ง 8 กลุ่ม คสช.จะมีในมือ 83 เสียง
หากคำนวณตัวเลขทางการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ส.ส.500 คน และ ส.ว.250 คน เลือกนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาล เสียงรวม 2 สภา 750 เสียง ถ้า คสช.ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้กึ่งหนึ่ง คือ 376 น่าเชื่อว่า คสช.มีเสียงในมือแล้วจาก ส.ว.250 เสียง เพราะ ส.ว.มาจากการเลือกของ คสช.และอาจจะมี 83 เสียงจากกลุ่มการเมืองต่างๆเมื่อเทียบเคียงกับผลเลือกตั้งปี 54
แปลว่า คสช.ขาดอีกแค่ 43 เสียงจะได้ 376 ตั้งรัฐบาล คสช.ก็ยังได้รับความนิยมจากคนจำนวนไม่น้อย 43 เสียง อาจจะไม่ยากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าประกวดในฐานะนายกรัฐมนตรี ผลวิเคราะห์ตัวเลขนี้จากผลเลือกตั้งปี 2554 การเลือกตั้งครั้งต่อไปเสียงของกลุ่มต่างๆ อาจจะไม่เป็นแบบนี้ก็ได้
เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นไปตามกติกาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติมาแล้วแต่ทำไมนักการเมืองมองว่า ปรากฏการณ์นี้ผิดปกติ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้แลกเปลี่ยนผลประโยชน์อะไร ก็ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มการเมืองเหล่านี้ ล้วนเคยร่วมตั้งรัฐบาลมาแล้วหลายยุคสมัย ข้อเท็จจริงคือ จำนวน ส.ส.ในมือ คือข้อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของแต่ละพรรค
ก่อนหน้านี้ คสช.เคยตั้งคำถามให้ประชาชนตอบว่า จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่ ดูเหมือนคำตอบของคำถามนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงแล้ว แต่วันนี้ดึงนักการเมืองกลุ่มนี้เข้ามา คงสามารถตอบได้ว่าหน้าใหม่หรือไม่