วันนี้ (9 พ.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิจัยการรักษาโรคของไทย ได้แก่ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก อาจารย์แพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ อาจารย์แพทย์จากหน่วยโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก และ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ จากศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นนายแพทย์และนักวิจัย จากประเทศฝรั่งเศส และฮาร์วาร์ด เมดดิคอล สคูล
ทดลองรักษาโรคธารัสซีเมีย ด้วยวิธี "ยีนบำบัด" โดยทำการรักษากับผู้ป่วย 3 คนของไทย ตั้งแต่ปี 2557 จากที่ต้องถ่ายเลือดตั้งแต่เด็ก ทำให้ขณะนี้ทั้ง 3 คนอยู่ในช่วงวัย 20 ปี สามารถไปเรียน ทำงาน หรือเล่นกีฬาได้ ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังต้องติดตามผลหลังจากนี้ไปอีกประมาณ 13 ปี และจะทดลองวิจัยเพิ่มเติม เพื่อดูแนวทางที่ประเทศไทย สามารถทำการรักษาเองได้ในอนาคต
ด้าน ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณ 200,000 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 40 เป็นพาหะนำโรคแบบไม่แสดงอาการ ส่วนการรักษาโรคมีเพียงทางเดียว คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดี สามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ แต่ก็มีเพียง ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่จะหาผู้บริจาคที่เหมาะสมได้ และผู้ป่วยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนจากขั้นตอนการรักษา
ขณะที่ค่าใช้จ่ายผู้ที่เป็นโรคธารัสซีเมียโดยเฉลี่ยตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ถึงอายุเฉลี่ย 30 ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 10 ล้านบาท แต่ถ้ากรณีผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูกด้วย จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกประมาณ 2 ล้านบาท
สำหรับการวิจัยครั้งนี้ยังเป็นขั้นตอนการทดลอง ไม่ได้นำมาให้บริการเป็นการทั่วไป และยังไม่สามารถประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดจาการใช้ยีนบำบัดได้