วันนี้ (15 พ.ค.2561) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุปีที่ผ่านมามีผู้จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาคอมพิวเตอร์เกือบ 20,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ว่างงาน เกือบ 7,000 คน ขณะที่ความต้องการด้านดิจิทัลในภาคธุรกิจ มีประมาณ 14,000 คน
ขณะเดียวกันพบว่า จำนวนคนทำงานที่จบสาขาคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศ มี 570,000 คน แต่ทำงานตรงสายอาชีพแค่ ร้อยละ 15 อีกร้อยละ 81 ไม่ทำงานอาชีพ ICT และร้อยละ 3 ว่างงาน
นางสาวเสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ระบุว่างานวิจัยสะท้อนปัญหาขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง แม้แต่ละปีไทยมีการผลิตกำลังคนในปริมาณมาก
นางสาวเสาวรัจ ระบุว่าสาเหตุมาจากหลักสูตรสาขาคอมพิวเตอร์ไม่ทันสมัย และไม่ปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง บางหลักสูตรไม่ได้บรรจุวิชาหลักที่จำเป็นต่อวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ เสนอว่า หากต้องการเพิ่มกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายโครงการ อีอีซี ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา จัดโปรแกรมหรือหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, Internet of Things ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน
รศ.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวว่า เพื่อรองรับบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี รัฐบาลทำโครงการสัตหีบโมเดล พัฒนาหลักสูตรนักศึกษาอาชีวะในพื้นที่นำร่องประมาณ 6,000-7,000 คน โดยให้บริษัทเอกชนร่วมพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนเครื่องมือ และรับเข้าทำงาน อัตราเงินเดือน 15,000-20,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ