วันนี้ (25 พ.ค.2561) นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ทางกรมควบคุมมลพิษได้รับการประสานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าตรวจสอบโรงงานแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ จ.ฉะเชิงเทรา โดยสำนักสิ่งแวดล้อมที่ 13 ชลบุรี เข้าเก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำในพื้นที่โรงงานโรงงานกำจัดขยะของบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา
สิ่งที่น่ากังวลเป็นเรื่องของสารเคมีที่อาจปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะน้ำใต้ดิน ที่อาจเป็นอันตรายได้หากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น ปรอท แมงกานีส อาร์เซนิก แคดเมียม โครเมียม ที่เกินค่ามาตรฐาน ขณะนี้อยู่ขั้นตอนตรวจสอบในห้องปฏิบัติการคาดว่าจะทราบผลใน 1 สัปดาห์
อธิบดี คพ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องตรวจสอบอีกว่าเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือหลังจากการคัดแยก ถูกนำไปกำจัดอย่างไร ปลายทางของเศษขยะนั้นนำไปไว้ที่ไหน หากไม่ได้รับการจัดการที่ดีเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะมีปริมาณมหาศาลจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน และหากเป็นการใช้วิธีฝังกลบก็อาจจะกระทบถึงแหล่งน้ำใต้ดินอีกด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องอาจทำให้สารเคมีไหลปนเปื้อนสู่ดิน แหล่งน้ำ ลำคลอง แม่น้ำ และน้ำใต้ดิน จึงจำเป็นต้องเร่งหาจุดฝังโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันอันตรายและมีมาตรการในการฟื้นฟูที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีจะต้องมีการประสานงานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นในการแจ้งเตือนประชาชนในการระวังอันตราย รวมถึงอาจต้องงดใช้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินชั่วคราว จนกว่าจะมีค่าการปนเปื้อนที่ปลอดภัย
ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษหากมีการประเมินแล้วพบว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแจ้งความผิดได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจะดำเนินการพิจารณาฟ้องร้องค่าเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมกับผู้ประกอบการต่อไป
ชี้อนุสัญญาบาเซลคุมนำเข้าของเสียอันตราย
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การนำเข้าของเสียอันตรายต้องเป็นไปตามอนุสัญญาบาเซล คือ อนุญาตให้นำเข้าสินค้าประเภทใช้แล้วเพื่อนำเข้ามาซ่อมแซมแล้วนำกลับออกไป หรือคัดแยกเพื่อเป็นวัสดุแล้วนำกลับสู่การผลิตใหม่ อีกทั้งต้องแจ้งว่าขนส่งไปยังที่ใดและจัดการโดยวิธีใด โดยหน่วยงานที่ควบคุมคือกรมโรงงาน ที่ผ่านมาพบปัญหาการสำแดงเท็จว่าสิ่งที่นำเข้ามาไม่ใช่ของเสียอันตรายซึ่งยากต่อการตรวจสอบ
ด้านนายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย คาดว่า จะทราบผลตรวจสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในสิ่งแวดล้อมของโรงงานกำจัดขยะของบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ภายใน 1 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ประชาชนควรงดการใช้น้ำบาดาล และหากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คพ.สามารถฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมได้
ขณะที่นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่า การอนุญาตตั้งโรงงานกำจัดขยะต้องผ่านหลักเกณฑ์จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและมีการตรวจสอบขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิด ซึ่งขยะประเภทนี้มีทั้งส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้และส่วนที่หลงเหลือ หากเก็บไม่ได้ต้องมีกระบวนการกำจัดและบำบัดที่ถูกต้อง ทั้งนี้ยอมรับว่ามีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง แต่ภาครัฐสามารถตรวจจับได้ และส่งออกไปนอกประเทศ
ขยะอุตสาหกรรมหรือซากอุตสาหกรรมมีทั้งที่มาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ต้องใช้เวลาในการจำแนกว่าส่วนใดถูกต้องหรือส่วนใดที่ไม่ถูกต้องเพราะเป็นกองที่รวมกันอยู่
ด้านนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยรองผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าชุด ร่วมกับตำรวจ ทหาร และอัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบโรงงานทั้งหมดเกือบ 200 แห่ง โดยเฉพาะโรงงานคัดแยกขยะประเภท 105 และ 106 โดยจะเร่งรัดตรวจสอบก่อนจำนวน 20 แห่ง หากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้
นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งโรงงานในพื้นที่ได้มอบหมายให้นายอำเภอร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจัดประชุมการทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชนถึงมาตรการป้องกันและเยียยวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า โรงงานของผู้ประกอบการชาวจีนที่รับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก เพื่อนำมากำจัด ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยปริมาณกว่า 100,000 ตัน เนื่องจากต้องย้ายฐานการกำจัดขยะมายังประเทศไทยเพราะประเทศจีนมีคำสั่งห้ามนำเข้าขยะ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ผวามะเร็ง ! ควันพิษเตาหลอมตะกั่ว โรงงานกำจัดขยะเถื่อน
ปักหมุดจังหวัดเสี่ยง ลักลอบทิ้งขยะอันตราย
5 ปี ขยะสารอันตรายพุ่ง 4 เท่า ทะลุ 16 ล้านตัน