วันนี้ (27 พ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในปลายปี 2562 สถานีกลางบางซื่อ จะกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางแห่งใหม่ของประเทศ รองรับรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าวันละ 100,000 คน โดยการก่อสร้างล่าสุดคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 49
ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2,300 ไร่ มูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ โรงแรม ที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และศูนย์ซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้า โดยพื้นที่โซนเอ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ 32 ไร่ วงเงิน 10,000 ล้านบาท จะเป็นพื้นที่เริ่มประมูลเพื่อให้ทันการเปิดให้บริการในปี 2563
การรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าว่าจะได้ผู้ชนะภายในปลายปีนี้ ขณะนี้กำลังแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อดำเนินการประมูล
ขณะที่เอกชนที่จะเข้ามาร่วมต้องเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการบริหารและพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ใจกลางกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีเอกชนรายใหญ่สนใจเข้าร่วมประมูลหลายรายเช่น กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล บริษัท ปตท. และยังมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและจีน
ทั้งนี้ การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมืองสุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ถือเป็นโครงการสำคัญที่บีทีเอส โฮลดิ้งส์ หมายตา โดยจับมือกับพันธมิตรอย่างบริษัทชิโน-ไทย และราชบุรีโฮลดิ้ง เข้าร่วมประมูล แต่ก็มีคู่แข่งที่สำคัญอย่างกลุ่มซีพี ซึ่งมีพันธมิตรจากนักลงทุนจีนหวังในเส้นทางนี้
เงื่อนไขสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลต้องรับภาระของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และจะต้องพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน และสถานีศรีราชา ไปพัฒนาในระยะเวลา 50 ปี และต้องจ่ายค่าเช่าให้การรถไฟในราคาตามตลาด ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าโครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 700,000 ล้านบาท