วงเสวนา “30 ปีป่าชุมชนไทยกับความเปลี่ยนแปลงต่อสังคม” ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นต่อการแก้ไขกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ และ ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน รวมถึงขับเคลื่อนกระบวนการเครือข่ายป่าชุมชน โดยมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ นักวิชาการ เเละภาคประชาสังคม เข้าร่วม
นายชลธิศ สุรัสวดี ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ที่มีบทบาทในการร่วมผลักดัน นโยบายป่าชุมชน สะท้อนว่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี หลายชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามุ่งมั่นในการปกป้อง ดูแล ผืนป่าให้สมบูรณ์ และสามารถทำงานร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการป่าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ ตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานภาครัฐ เริ่มเรียนรู้และเห็นด้วยกับ การผลักดันให้มี ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน โดยหวังให้เป็นกลไกทางกฎหมายที่จะช่วยหนุนเสริมการบริหารจัดการป่าให้ยั่งยืน
เราเคยประเมินตัวเลขว่าคนที่อยู่กับป่าและใช้ประโยชน์จากป่าราว 20,000 หมู่บ้าน พื้นที่ไม่น่าจะต่ำกว่า 6,000,000 ไร่ ซึ่งในบริบทนั้นเองเป็นการพึ่งพิงกันระหว่างป่ากับคน เมื่อเกิดกฎหมายก็จะสามารถที่จะทำให้พี่น้องประชาชนใช้อย่างถูกต้อง ช่วงที่ผ่านมา การทำงานของป่าชุมชนทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยกำกับดูแล แต่หลังจากที่จะมี ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่จะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนจะมีสิทธิในการดูแลอย่างเต็มที่
ถึงแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับล่าสุด จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ในชั้นการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้
อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับดังกล่าว ยังถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชน เช่น ป่าชุมชนต้องอยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งสวนทางกับข้อเท็จจริงในหลายพื้นที่ที่มีการขยายเขตป่าอนุรักษ์มาทับที่อยู่และป่าชุมชนของชาวบ้านเกิดกรณีพิพาท และที่สำคัญคือกระบวนการยกร่างไม่ได้เปิดกว้างให้ชุมชนและภาคส่วนต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมมากนัก
เกรียงไกร ชี้ช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก
นายเกรียงไกร ชี้ช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาว่า ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิให้ชัดเจน เนื่องจากสังคมไทยมีพื้นที่หลายรูปแบบไม่ได้มีแค่พื้นที่ทำกินกับพื้นที่ป่า ที่ผ่านมาจึงอาจทำให้เกิดช่องว่าง มีเอกชนเข้าไปถือครองเพื่อหาผลประโยชน์ ส่วนคนในพื้นที่กลับได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้ไม่เต็มศักยภาพ
ปัจจุบันแนวทางหลักในเรื่องป่าชุมชนถูกหลงลืมไป กลายเป็นว่าตอนนี้ป่าชุมชนที่เป็นรูปธรรมจริงๆอยู่ในเงื่อนไขที่รัฐเป็นคนกำหนด นั่นหมายถึงคนในชุมชนจะเห็นพื้นที่ก็จริง รู้เพียงแค่ว่าเป็นพื้นที่ป่า แต่การมีส่วนร่วมของชาวบ้านน้อยลง ชุมชนเป็นแค่ “หมาเฝ้าบ้าน” คือเฝ้าป่าไว้แต่ไม่ได้จัดการและใช้ประโยชน์
นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่าสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันคำนี้ถูกพูดไม่ชัดและเบาลง แต่กลับกลายเป็นว่าสิทธิต่างๆ ไปอยู่กับรัฐมากขึ้น ทั้งการจดแจ้งเงื่อนไขกติกา การสร้างกลไกในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่ใช่บริบทที่ชุมชนเข้าใจได้ง่ายกลายเป็นว่าเรื่องป่าชุมชนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเป็นเรื่องที่รัฐเป็นคนกำหนดเพียงฝ่ายเดียว
พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับล่าสุดไม่ได้สอดคล้องกลับบริบทปัจจุบันของชุมชน เพราะยังมีหลายชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ เช่น ชุมชนที่เป็นชาติพันธุ์ หรือ ชนเผ่าพื้นเมือง กะเหรี่ยงที่อยู่ในป่า เงื่อนไขป่าชุมชนก็จะเป็นการจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง กลายเป็นชุมชนไม่ได้ประโยชน์ เพราะต้องอยู่ในเงื่อนไขรัฐ
นายเกรียงไกร ยังกล่าวว่า ป่าในนิยามของชุมชนคือคนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการใช้ประโยชน์ในระยะยาว สิ่งนี้จึงจะนำไปตอบโจทย์ถึงความมั่นคงด้านอื่นๆ
นักวิชาการชี้ มติ คทช.ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ขณะที่มติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งล่าสุด ที่อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นพื้นที่ป่าทุกประเภท ดังที่ คทช.เห็นชอบการขยายพื้นที่ทำกินสำหรับชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1 และ ชั้น 2 เพื่อรองรับการอยู่อาศัยในลักษณะแปลงรวมที่รัฐจัดให้แก่ราษฎร
นักวิชาการและนักพัฒนา ตั้งข้อสังเกตว่า มติ คทช.ในเรื่องของการแก้ปัญหาที่ดินและป่าไม้ไม่สอดคล้องกับหลักคิดเรื่องโฉนดชุมชนและยังเป็นการแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด
นายกฤษฎา บุญชัย นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การตรวจสอบว่าเป็นชุมชุนดังเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชั้น 1 ชั้น 2 ก่อนหรือหลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.2541 ยังมีข้อจำกัดเพราะจนถึงตอนนี้หลายพื้นที่ยังไม่มีข้อสรุป บางชุมชนการพิสูจน์สิทธิถิ่นอยู่อาศัยนำไปสู่ข้อพิพาท ซึ่งอาจเป็นความไม่ชัดเจนซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ เมื่อพิจารณาจากกรอบมาตรการก็จะพบว่าหากเป็นชุมชนเขตป่าสงวนหลัง มติ ครม.ก็จะยิ่งพบข้อจำกัด โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ซึ่งหลักเกณฑ์ตาม มติ คทช.อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาด้านที่ทำกินได้อย่างแท้จริง
สิ่งที่ใส่ไว้ในมติ คทช.ว่าชุมชนที่อยู่หลังมติโดยเฉพาะในลุ่มน้ำชั้นต้นๆ รัฐอนุญาตให้ทำแค่ไปปลูกป่า ปลูกไม้ตามที่กรมป่าไม้กำหนด แล้วก็มีหน้าที่หรือบทบาทเพียงแค่เก็บเกี่ยวผลผลิตของพืชที่แซมระหว่างต้นไม้ แค่นั้นเอง แล้วแค่นี้คนในพื้นที่จะมีชีวิตรอดได้อย่างไร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเรากำลังทิ้งคนจำนวนหนึ่งออกไป โดยไม่ได้ผนวกเขามาเพื่อสร้างกระบวนการอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนของมาตรการของ คทช. คือการแก้ปัญหาพื้นที่ทำกินที่เขตป่าอนุรักษ์ ก่อนและหลังมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 แม้หลักการจะกำหนดให้ต้องเป็นชุมชนดั้งเดิมไม่ใช่คนภายนอกพื้นที่ ไม่ให้เอกสารสิทธิ โดยมีแนวทางในการจัดการในรูปแบบที่ต้องยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ทั้งหมดจะพิจารณาได้จะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีผลบังคับใช้
นายกฤษฎา กล่าวว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าการแก้ พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ คทช.กำหนด ดังนั้นถ้ายังไม่มีมาตรการที่รองรับชัดเจน แล้วกฎหมายยังไม่มั่นใจว่าจะปรับแก้อย่างไรพวกเขาจะไม่มีหลักประกันสำหรับชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์
สอดคล้องกับ นายเดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) กล่าวว่า รูปแบบการแก้ปัญหาที่ดินแบบแปลงร่วมยังติดอยู่กับการจัดการโดยให้อำนาจส่วนราชการ โดยไม่ได้ตอบโจทย์การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
เชียงใหม่มีพื้นที่เป้าหมายอยู่ประมาณ 2,066 หมู่บ้าน จำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายนี้ประมาณ 1,066 หมู่บ้าน ลองคิดดูว่าถ้าวิธีงบประมาณยังอยู่ได้แค่ปีละ 10-20 หมู่บ้าน เราจะใช้เวลาประมาณ 150 ปี ในการแก้ไข้ปัญหานี้ เพราะฉะนั้นถึงแม้นโยบายจะออกมาดีเขียนแนวปฏิบัติ ขั้นตอนการดำเนินการที่จะไปสู่การแก้ไขเรายังไปฝากไว้กับระบบราชการมากเกินไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้สรุปการดำเนินการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย และการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ ได้ดังนี้
1. พื้นที่เป้าหมายดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน พื้นที่เป้าหมาย 635 พื้นที่ 70 จังหวัด 1,066,307-3-91.66 ไร่
2. เห็นชอบพื้นที่เป้าหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก คทช.จังหวัด พื้นที่เป้าหมาย 313 พื้นที่ 66 จังหวัด 808,069-1-91.31 ไร่
3. หน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ได้อนุญาตให้เข้าประโยชน์แล้ว พื้นที่เป้าหมาย 100 พื้นที่ 50 จังหวัด 376,880-0-75.64 ไร่
4. มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว พื้นที่เป้าหมาย 81 พื้นที่ 45 จังหวัด 295,615-0-75.84 ไร่
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดที่ดิน (จัดคนเข้าทำประโยชน์) ให้ประชาชนไปแล้ว จำนวน 166 พื้นที่ 61 จังหวัด จำนวน 46,674 ราย เนื้อที่ราว 329,772 ไร่
และมีพื้นที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแล้ว จำนวน 112 พื้นที่ 55 จังหวัด เนื้อที่ 377,652-2-74