วันนี้ (22 มิ.ย.2561) ศูนย์วิจัยประสบการณ์และข้อมูลลูกค้าทีเอ็มบี เปิดเผยผลการศึกษาหัวข้อ "คนไทยมีเงินเหลือใช้ไม่ถึง 6 เดือน เมื่อหยุดทำงาน" จากผลการสำรวจออนไลน์กับคนไทยทั่วประเทศ ที่มีอายุระหว่าง 18-54 ปี จากฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพ 35 ล้านคน พบว่า
คนไทยร้อยละ 80 ประมาณ 28 ล้านคน มีเงินออมพอใช้ไม่ถึง 6 เดือน ขณะที่กลุ่มที่มีเงินออมพอ สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 20 โดยปัญหาเงินออมไม่พอเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยเริ่มทำงาน หรือ Gen Y จนถึงกลุ่มคนทำงาน หรือ Gen X และร้อยละ 70 ของผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ยังมีเงินออมไม่พอ และคนที่มีเงินออมไม่พอส่วนใหญ่เป็นพนักงานเอกชนและจ้างงานอิสระ
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย ระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทย ที่สำคัญคือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปเน้นความสะดวกสบายและรวดเร็ว เช่น ทานอาหารนอกบ้าน นิยมเสพโซเชียลมีเดีย ใช้จ่ายเงินไปกับความบันเทิง การบริโภคสุรา และสูบบุหรี่
นางสาวนันทพร ตั้งเจริญศิริ หัวหน้าทีมศึกษาวิจัยประสบการณ์และข้อมูลลูกค้า ทีเอ็มบี กล่าวว่า คนไทยมีการใช้จ่ายเกินกำลัง โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของคนที่มีบัตรเครดิต ไม่สามารถชำระเต็มจำนวน และอีกร้อยละ 48 ผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย มีพฤติกรรมใช้ก่อนออมทีหลัง และไม่วางแผนการใช้จ่ายหลังเกษียณ
ผลวิจัยฯ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งในแง่อุบัติเหตุและโรคร้าย โดยไทยมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุสูงเป็นที่ 13 ของโลก และมีค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี แต่มีการทำประกันไม่ถึงร้อยละ 10 ดังนั้นการให้ความรู้ทางการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ