ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติขึ้นในหลายพื้นที่แถบอาเซียน ทั้งน้ำท่วมที่ประเทศลาว ดินถล่มและน้ำท่วมในประเทศไทย แผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย เหตุการณ์ทั้งหมดหลายคนอาจสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ไทยพีบีเอสสัมภาษณ์ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีถึงกรณีดังกล่าว ได้รับคำตอบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากคนละปัจจัย
แผ่นดินไหว เกาะลอมบอก ประเทศอินโดนีเซีย เกิดจากปัจจัยใด ?
เกาะลอมบอกที่เกิดแผ่นดินไหว อยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ แนววงแหวนแห่งไฟ แผ่นดินไหวเป็นการชนกันของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมีพลังงานเยอะ เมื่อแรงสั่นสะเทือนเกิดขึ้น ภูเขาไฟที่มีความชันได้รับแรงกระแทก ก็อาจจะเกิดดินถล่มเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการทำทางตัดภูเขาขึ้นไป หรือแม้กระทั่งไม่มีความไม่เสถียรอยู่แล้ว ก็เกิดถล่มและปิดทับเส้นทางที่จะออกได้
ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ที่เกิดขึ้นเป็นขนาดปกติในพื้นที่นี้ที่สามารถเกิดขึ้นได้ เกาะแห่งนี้อยู่ใกล้เกาะบาหลี เป็นเกาะที่เป็นภูเขาไฟ ในอดีตเคยมีภูเขาไฟขนาดใหญ่ระเบิด ประมาณปี ค.ศ.1200 กว่าๆ ตอนนั้นใหญ่มากฝุ่นควันปกคลุมไม่มีแสงแดดลงมาเลย ปัจจุบันมีภูเขาไฟบนเกาะนี้ที่ยังมีพลังอยู่
แผ่นดินไหวซื่อตรงมาก ลักษณะการเกิดไม่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศแต่อย่างใด เขาจะมีจังหวะเวลาของเขา มีรอบการเกิดของเขา มีตำแหน่งสถานที่ความรุนแรงเกิดที่ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น บริเวณแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกจะมีความรุนแรงระดับหนึ่ง ไทยไม่ได้อยู่ตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก อยู่ด้านในความรุนแรงก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง มีรอบการเกิดซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะเวลาของชีวิตมนุษย์
ดินถล่ม จ.น่าน เกิดจากปัจจัยใด ?
ถ้ามองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเรามองเฉพาะเนื้อความนี้ตรงๆ จริงๆ ก็มีสิ่งที่เป็นลักษณะแบบนั้นจริงคือ เรามีพายุ ลม ฝน ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ฝนตกในระยะเวลาที่สั้นแต่มีปริมาณมาก หรือฝนตกระยะเวลานาน น้อยๆ แต่นาน ตกแช่ก็มีมากขึ้น อย่าง
กรณีนี้เกิดจากพายุที่เข้ามาแล้วส่งผลกระทบที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากจนเกิดดินถล่ม บริเวณพื้นที่บ่อเกลือ จ. น่าน โดยหลักแล้วเป็นสาเหตุจากน้ำฝน แต่ในรายละเอียดต้องไปดูอีกทีหนึ่งว่ามันมีปัจจัยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมนุษย์ที่เข้าไปอยู่ด้วยหรือไม่ เรายังบอกไม่ได้ แต่หลักๆ เป็นน้ำฝนที่เป็นตัวกระตุ้น
ปริมาณน้ำฝนจะทำให้เม็ดดินมีความแข็งแรงลดลง จากที่แห้งๆ หมาดๆ เขาก็จะอยู่ในสถานะที่แข็งแรงระดับหนึ่ง พอโดนน้ำก็เกิดแรงดันน้ำ ความแข็งแรงของดินก็จะตกลง เมื่อแรงดันน้ำในดินมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมากขึ้น ฝนตกสะสมมากขึ้น โอกาสที่จะทำให้เกิดมวลดินใหญ่ เกิดการสไลด์ก็ยิ่งมี ก็ยิ่งน่ากลัวใหญ่
เฝ้าระวังดินถล่มอย่างไร ?
ในประเทศไทยเรามีแบบจำลองเตือนภัยคาดการณ์ล่วงหน้า 3-4 วัน โดยประมาณ เมื่อคาดการณ์แล้วจะมีการเตือนภัยในพื้นที่ เมื่อเตือนภัยในพื้นที่หลังจากนั้น คนในพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเอง ไม่มีแบบจำลองไหนในโลกนี้ที่จะสามารถระบุหมู่บ้านนี้ หมู่บ้านนี้ แล้วไปเฝ้าระวังให้ แต่จะสามารถประเมินคราวๆ ได้ว่า 3-4 วันข้างหน้าจะมีฝนตกหนักให้ระวัง การระวังคือต้องเอาเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆ ซึ่งทางหน่วยงานต่างๆ น่าจะแจกให้แล้วเอามาทำการวัดและมาตรวจสอบปริมาณสำคัญที่สุด คือเราต้องตัดสินใจดูแลตัวเอง อพยพเอง ดังนั้นถ้าย้อนกลับมาการเฝ้าระวังภัยกับการซ้อมอพยพเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญ การอพยพในเรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม หรือแม้กระทั่งการอพยพในกรณีของเขื่อน ก็ต้องมีการซ้อมเกิดขึ้น
ฝนตกหนัก-น้ำท่วมในไทย แผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย เขื่อนแตกในลาว เกี่ยวข้องกันหรือไม่ ?
ผมคิดว่าน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน เพราะน้ำฝนเป็นตัวกระตุ้นเป็นตัวหลัก แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหว เขื่อนแตก น่าจะไม่เกี่ยวข้องกัน แผ่นดินไหวมันเป็นรอบมันเป็นจังหวะของเขา
ส่วนเขื่อนเป็นเรื่องของโครงสร้างทางวิศวกรรม ถ้าน้ำล้นสันเขื่อนปริมาณมากกว่าที่ออกแบบไว้อันนี้อาจจะเกี่ยวข้อง แต่ถ้าอยู่ดีๆ รับน้ำยังไม่เกินพิกัดหรือเกินเกณฑ์แล้วพัง อันนี้น่าจะต้องเป็นปัญหาทางวิศวกรรม