วันนี้ (4 ส.ค.2561) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประชุมร่วมกับ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมตัวแทนจากกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานจ.เพชรบุรี
โดยได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินสำรวจสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี เหนือเขื่อนแก่งกระจาน และเส้นทาง การระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี ก่อนลงพื้นที่ติดตามผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำที่สำคัญด้วย
สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 1 วันปริมาณน้ำขึ้นมามากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อน 690 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 97% ของความจุเขื่อน 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลเข้า 24.8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ระบายออก 9.30 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน คงเหลือพท.รับน้ำอีกประมาณ 40 เซนติเมตร
คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) น้ำจะไหลล้นระดับสปิลเวย์ ซึ่งมาตรการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน คือ การระบายทางช่องทางระบายน้ำในลำน้ำเดิมวันละ 8.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และติดตั้งกาลักน้ำ 12 แถวระบายได้ 0.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และเพิ่มเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟร์อีก 20 เครื่อง ระบายน้ำได้ 2.6 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันรวม 2 ส่วนระบายน้ำได้ 3.1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และหากน้ำล้นสปิลเวย์ เมื่อน้ำถึงระดับเก็บกักสูงสุดยังระบายได้อีก ยืนยันไม่กระทบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน
เลขาธิการ สทนช.ระบุว่า ในระหว่างวันที่ 4-8 ส.ค.นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบในภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นแนวปะทะของฝน โดยจะตกมากในภาคตะวันตก และมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 เขื่อนมากขึ้น คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากเขื่อนแก่งกระจาน ขณะนี้ผู้ว่าฯ เพชรบุรี ได้ทำหนังสือไปยังอำเภอ นายกเทศมนตรีเมือง และปภ.เพชรบุรี เพื่อให้แจ้งเตือน และเตรียมช่วยเหลือชาวบ้าน จากการระบายนำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี หากมีการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร
โดยจังหวัดเพชรบุรี เตรียมประกาศประชาชนในพื้นที่ 5 อำภอ ที่จะได้รับผลกระทบยกของขึ้นที่สูง ได้แก่ อ.บ้านแหลม อ.เมือง อ.บ้านลาด อ.แก่งกระจาน และอ.ท่ายาง โดยประสานให้ทาง ปภ.เตรียมเคลื่อนย้ายอุปกรณ์กู้ภัยไปยังศูนย์อำนวยการภัยพิบัติ ที่ศาลากลางจังหวัดตั้งแต่วันพรุ่งนี้
พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอาจจะทำให้มีระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2.87-4.51 เมตร ขณะที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเพชร ตั้งแต่บริเวณเขื่อนเพชร จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรีจากตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีลงมา ปริมาณน้ำที่ล้นคาดว่าจะประมาณ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที การไหลของน้ำจะไป 2 ทาง คือ ลงเขื่อนเพชร 50 ลบ.มต่อวินาที กับลงแม่น้ำเพชร 150 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองท่าแร้ง ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
เร่งระบายน้ำล้นออกจากเขื่อนแก่งกระจาน
สถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานเพิ่มระดับสูงขึ้น เจ้าหน้าที่ติดตั้งท่อสูบน้ำที่ทางน้ำล้นเพื่อเพิ่มปริมาณการระบายน้ำออกจากเขื่อน เจ้าหน้าที่ระดมกำลังติดตั้งท่อสูบน้ำเพิ่ม 20 ท่อที่ทางน้ำล้น เขื่อนแก่งกระจาน เนื่องจากระดับน้ำเสมอตลิ่งทางน้ำล้นตั้งแต่เมือคืนที่ผ่านมา การระบายน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำที่ทางน้ำล้นขณะนี้ติดตั้งท่อเดินเครื่องสูบน้ำได้ 3 ตัวแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้ได้ครบ 20 ตัว ภายใน 2 วัน
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเครืองกลกรมชลประทาน บอกว่า สังเกตการณ์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) จนช่วงเช้า พบว่าน้ำในเขื่อนเพิ่มระดับประมาณ ชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร จึงจำเป็นต้องติดเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยระบายน้ำออก และเมื่อเครื่องสูบน้ำทำงานเต็มกำลัง ครบ 20 ตัว จะช่วยระบายน้ำออกจากเขื่อนได้จำนวนมาก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี เพราะน้ำอาจจะเอ่อท่วม เป็นวงกว้างมากขึ้น
ขณะที่การระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทางประตูระบายน้ำยังดำเนินการเต็มกำลัง ตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับกาลักน้ำ ที่สันเขื่อนแก่งกระจานติดตั้งท่อสูบน้ำ 12 ท่อสูบต่อเนื่องเช่นกัน