วันนี้ (15 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เสนอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พิจารณาขอปรับขึ้นค่าเบี้ยสุขภาพ เพราะบริษัทประกันเริ่มขาดทุนจากต้นทุนค่าเคลมประกันรักษาพยาบาลเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี โดยเฉพาะเด็กเล็ก
นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ระบุว่าขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมสถิติยอดการรักษาการเคลมประกันสุขภาพ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันสุขภาพใหม่ รวมถึงต้องพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ ค่ารักษาพยาบาล อัตราเงินเฟ้อและทิศทางดอกเบี้ยและภาระของผู้บริโภคด้วย ซึ่งยังต้องกำหนดค่าเบี้ยให้เหมาะสม
เราไม่ได้ปิดกั้นอะไร รับฟังอยู่ พร้อมกับพิจารณาควบคู่กับข้อมูลที่ทาง คปภ. มีอยู่ แล้วจะคุยกันอีกทีว่าตรงไหนเหมาะสมอย่างไร
นางนุสรา บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ระบุว่า ยอดขอเคลมประกันภัยสุขภาพสูงมากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7-8 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 62,600 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของธุรกิจประกันชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุ 0-10 ปี นอกจากนี้อาจมาจากการฉ้อฉลการเคลมประกัน ขณะนี้มีการตั้งคณะทีมงานเข้ามาตรวจสอบ
ตอนนี้สมาคมเริ่มทำรายการว่าการฉ้อฉลเกิดจากอะไรได้บ้าง เกิดจากตัวแทนหรือไม่ บางทีตัวแทนไปเอาคนป่วยมาทำประกัน ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านนี้สูง หรืออาจจะเกิดการฉ้อฉลจากโรงพยาบาลที่เบิกยาเกิน หรือว่าร่วมมือกันระหว่างคนขายกับคนซื้อ
อย่างไรก็ตาม คปภ.อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยทั้งระบบ ซึ่งมีกว่า 100 มาตรา รวมถึงการฉ้อฉล กำหนดโทษปรับและจำคุก ทั้งตัวแทน และโรงพยาบาล
นายศักดิ์สิทธิ์ วิทยศักดิ์ ผู้บริโภคที่ซื้อประกันสุขภาพให้บุตรหลาน กล่าวว่า การประกันสุขภาพเด็กยังจำเป็น เพราะครอบคลุมค่ารักษาได้ทั้งหมด ปัจจุบันต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราที่สูง ซึ่งหากมีการปรับเพิ่มเบี้ยอีกก็อาจได้รับผลกระทบ
แนวทางแก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชนแพง
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เปิดเผยค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมของโรงพยาบาลรัฐ จาก 3 กองทุนสุขภาพและเอกชน พบว่าแต่ละกลุ่มมีความคล้ายคลึงกันของค่ารักษาพยาบาล แทบทุกรายการค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนจะสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ มีเพียงบางกลุ่มโรค เช่น การผ่าตัดต้อกระจก ราคาใกล้เคียงกัน
ที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนค่อนข้างจะควบคุมยาก เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชน อ้างเรื่องต้นทุนทั้งค่าดอกเบี้ย ค่าภาษีรายได้ และค่าตอบแทนของแเพทย์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ ดังนั้นหากกำหนดราคากลางก็จะเป็นเครื่องมือควบคุมระบบการจ่ายเงิน และทำให้ประชาชนรู้ราคาล่วงหน้าได้
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวว่าปัจจุบันภาครัฐมีหลักประกันที่จัดไว้ให้ประชาชนแล้ว ดังนั้นภาคเอกชนไม่ควรทับซ้อน ส่งผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ หากมีการควบคุมได้จะช่วยประหยัดเบี้ยของผู้ซื้อประกันได้ส่วนหนึ่ง
สอดคล้องกับความเห็นของ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะอนุกรรมการบริการด้านสุขภาพ องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ควรเป็นหน่วยงานหลักหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กำหนดราคากลางค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนเหมือนกับ 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค และไม่ให้ธุรกิจโรงพยาบาลแสวงหาผลกำไรมากเกินควร ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกเหล่านี้
อยากจะให้มีมาตรการในการกำกับควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลจริงๆ การที่บริษัทประกันภัยมาเสนอว่า ถ้าไม่ขึ้นราคาก็จะไม่ขายให้โดยเฉพาะเด็กเล็ก เรารู้สึกว่าเขากำลังเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกัน ซึ่งผู้บริโภคพอจะมีกำลังซื้อก็อยากจะมีหลักประกันในเรื่องสุขภาพของตัวเอง รัฐก็ให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทกันอยู่มาก ทำไมเรื่องนี้ถึงไม่ควบคุมกำกับราคาพวกนี้ ไม่ใช่โรงพยาบาลเคลมเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น ทั้งๆ ที่หลายครั้งแพงเกินเหตุผล
ขณะที่ บริษัทประกันภัย ต้องเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการควบคุมราคาไม่ใช่ปล่อยให้คิดราคาค่ารักษาพยาบาลแบบเสรี จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่าการขอปรับขึ้นเบี้ยสุขภาพ นั่นเท่ากับว่าผลักภาระมาให้ประชาชน นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า โรงพยาบาลเอกชนและบริษัทประกันภัยสมยอมกันหรือไม่