องค์กรอนุรักษ์ชื่นชมราชทัณฑ์ อนุรักษ์ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง
วันที่ 15 มิ.ย. 2558 รายงานข่าวจากมูลนิธิโลกสีเขียวเปิดเผยว่า ตามที่ตัวแทนองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ประเทศไทย ได้ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ ลงตรวจสอบพื้นที่สถานที่ก่อสร้างเรือนจำสุราษฎร์ธานี แห่งใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง สายพันธุ์ Nepenthes Suratensis พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่พบที่เดียวในโลก ได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1.ความจำเป็นในการก่อสร้าง - ทุกฝ่ายเห็นตรงกันถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่เพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพและแก้ไขความแออัดขั้นวิกฤตของนักโทษในเรือนจำสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
2.ทางเลือกของตำแหน่งที่ก่อสร้าง - พื้นที่ทางเลือกในบริเวณเดียวกันเป็นพื้นที่สวนปาล์มซึ่งเป็นที่ดินที่มีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านและได้มีการเจรจาเกี่ยวกับค่าชดเชยเรียบร้อยแล้วแต่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของศาล ซึ่งยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้ รวมทั้งยังต้องหาที่รองรับชาวบ้านแห่งใหม่ด้วย
3.มาตรการอนุรักษ์ - เรือนจำสุราษฎร์ธานีได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้นจำนวน 2 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง N.Suratensis ประมาณ 50 ต้น และได้กำหนดพื้นที่ฟื้นฟูป่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์อีก 40 ไร่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับการย้ายต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง
4.ขั้นตอนการย้าย - ดำเนินการโดยความร่วมมือของนักวิจัยหลายฝ่าย โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ประสานงานหลัก วิธีการย้ายได้แก่ 1) ตัดยอดชำ 2) เก็บเมล็ด ซึ่งมีการเก็บ/เพาะ นอกแหล่งอาศัย (ex situ) ไปได้แล้วพอสมควรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 3) ล้อมขุดเหง้าต้นที่ตัดชำย้ายไปลงพื้นที่ใหม่
5.ช่วงเวลาดำเนินการ - เดิมมีการเตรียมการขุดย้ายในส่วนที่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม แต่ปัจจุบันมีการปรับแผนเร่งดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายนนี้เพราะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกเพื่อให้ต้นแม่มีโอกาสรอดมากที่สุด และแก้ปัญหาต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่เหลืออยู่ถูกลักลอบขุดจากนักสะสมพันธุ์ไม้
6.แนวทางการอนุรักษ์ในระยะยาว - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี จะทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับเรือนจำสุราษฎร์ธานี เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยและติดตามผลการอนุรักษ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงในถิ่นอาศัย (in-situ) และนอกถิ่นอาศัย (ex-situ) อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตมีแผนการที่จะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อสร้างความตระหนักให้กับชุมชนและเยาวชนโดยทั่วไป
ทางกลุ่มตัวแทนอนุรักษ์ได้แสดงความชื่นชมกรมราชทัณฑ์ รวมถึงหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่ให้ความสำคัญและมีมาตรการอนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่าเฉพาะถิ่นของประเทศไทยชนิดนี้ให้คงอยู่สืบไป ทั้งนี้ทางกลุ่มอนุรักษ์ระบุว่าจะจัดทำข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์ระบบนิเวศโดยรวมอีกครั้ง เพราะจากการลงพื้นที่พบว่า ระบบนิเวศทุ่งพรุที่เป็นแหล่งอาศัยของหม้อข้าวหม้อแกงลิง เป็นระบบนิเวศที่มีคุณค่าและมีพันธุ์ไม้น่าสนใจหลายชนิด พร้อมกับเสนอให้ กรมราชทัณฑ์พิจารณาปรับปรุงในบริเวณสวนป่าให้มีความใกล้เคียงกับระบบนิเวศดั้งเดิมที่สุด เพื่อเป็นตัวแทนระบบนิเวศที่หาได้ยากในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยและแหล่งเรียนรู้ของสังคมในอนาคต