วันนี้ (29 ส.ค.2561) นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการวางแผนอนุรักษ์ โดยมีผู้เข้าร่วม 35 คน จาก 28 องค์กร รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรเอกชน นักชีววิทยา นักพันธุศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าสัตว์ป่า ทั้งในและต่างประเทศ
นักวิชาการ นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การลักลอบล่านกเงือก โดยเฉพาะ นกชนหิน ( Rhinoplax vigil) หนึ่งในนกเงือกที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันพบในเขตป่าของบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย นกชนหินมีอาหารที่จำเพาะ คือ มะเดื่อ มีการเลือกโพรงรังที่มีความเฉพาะตัวมาก และมีวงรอบในการทำรังที่ยาวนาน
ส่วนหัวที่มีความแข็งของนกเงือกชนหิน เป็นที่ต้องการในบางประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน สำหรับทำเครื่องประดับ นกชนหินอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส)ตั้งแต่ปี 2518 ความต้องการที่มากขึ้นนำไปสู่การลักลอบค้าที่มากขึ้น
ความพยายามในการชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามของนกชนิดนี้เริ่มขึ้นในการประชุม Wildlife Reserves Singapore ในปี 2558 ซึ่งทำให้เห็นถึงวิกฤต และนำไปสู่การยกระดับสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนก โดย BirdLife International และ Helmeted Hornbill Working Group (HHWG) จาก สี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปเป็น “เสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์”
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ พร้อมการสนับสนุนการอนุรักษ์นกเงือกในภูมิภาค โดยมุ่งที่จะปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเงือก และลดการค้า รวมทั้งยังมีแผนในการปล่อยนกเงือกสายพันธุ์ที่สำคัญคืนสู่ธรรมชาติ รวมทั้งการส่งเสริมการศึกษาวิจัย โดยตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการอนุรักษ์นกเงือกเพื่อเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้เตรียมตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับนกเงือก เพื่อพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติ เรื่องการจัดการและการอนุรักษ์นกเงือก
สำหรับแผนการอนุรักษ์ และแผนปฏิบัติการระยะ 10 ปี มีจุดมุ่งหมายในการฟื้นฟูประชากรและการกำจัดการค้านกชนหิน โดยการทำให้มั่นใจว่าการห้ามค้าขายของบัญชี CITES หมายเลข 1 ของนกชนิดนี้นั้นได้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับนกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งในหลายพื้นที่มีการสูญพันธุ์ของนกเงือกมากขึ้น จึงมีการก่อตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนกเงือกภายใต้ IUCN Species Survival Commission เพื่อใช้องค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการชี้แนะแนวทางเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกที่ถูกคุกคาม ทั้งนี้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญตั้งเป้าหมายให้ความสำคัญในระยะแรกเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกที่ถูกคุกคามอย่างรุนแรงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก