วันนี้ (31 ส.ค.2561) นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา เปิดเผยว่า ภาวะโรคความจำเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคนี้มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้นจากสถิติผู้ป่วยอัลไซเมอร์พบได้ในกลุ่มทั่วไปเฉลี่ยอายุ 65 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 5 กลุ่มอายุ 75 ปีเฉลี่ยร้อยละ 15 และกลุ่มอายุ 85 ปีประมาณร้อยละ 30- 40
ขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยทำงานมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะโรคความจำเสื่อมเพิ่มขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
ในวัยหนุ่มสาวอาจจะมาจากความล้า อดนอน ซึ่งอาจจะมีผลกับร่างกายในบางส่วนได้
นพ.สุธี ศิริเวชฏารักษ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด แนะนำว่ากลุ่มคนวัยทำงานสามารถฟื้นฟูและกายภาพบำบัดขจัดความเครียดที่สะสมได้ เพื่อป้องกันการจดจำของสมองที่อาจจะสับสน ส่งผลให้สมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี หรืออาจจะส่งผลให้เกิดโรคภาวะซึมเศร้า วิธีการแก้ไขสามารถป้องกันดูแลสมองให้แข็งแรงได้ด้วยการหมั่นตรวจสุขภาพ การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย และหมั่นฝึกให้สมองได้ทำกิจกรรม
กลุ่มคนทำงานที่เครียดมากๆ จะเกิดปัญหาสมาธิไม่ดี ความจำไม่ดี มันไม่ใช่โรคเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว โดยที่มีต้นเหตุชัดเจน การรักษาก็ต้องรักษาที่ต้นเหตุ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมักพบเห็นผู้สูงอายุถูกทิ้งในที่สาธารณะ หรือผู้สูงอายุมักหลงลืมเส้นทางกลับบ้านบ่อยครั้ง โดยแพทย์มองว่าอนาคตจากนี้อาจพบเห็นมากขึ้น เนื่องจากกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาครัฐ ควรออกมาตรการรองรับดูแลกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้
7 อาการบ่งบอกว่าสมองอ่อนล้า และความจำแย่ลง
1.มีปัญหาในการนอนหลับ
2.ระบบย่อยอาหารมีปัญหา หรือระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ
3.หลงลืมง่าย
4.ไม่มีสมาธิ ใจลอย
5.เหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลาแต่นอนไม่หลับ
6.วิตกกังวล
7.ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน