วันฝนตกช่วงกลางเดือน กรกฎาคม 2561 ที่ จ.นราธิวาส ทีมงานเปิดปมเดินทางผ่านด่านตรวจของทหารด่านแล้วด่านเล่าเพื่อมุ่งหน้าไปยัง อ.สุไหงปาดี โดยมีเป้าหมายเพื่อพบกับพี่น้องคู่หนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา
ทีมงานเดินทางไปถึงบ้านขนาดย่อมๆ หลังหนึ่ง ที่นั่นเราได้พบกับนางรอมา ยูมะโซ อายุ 43 ปี ผู้เป็นแม่ พร้อมกับลูกอีก 2 คน คือ นายอาดิลัน สะแลแม อายุ 19 ปี ลูกชายคนโต และ น.ส.อาดีลา สะแลแม ลูกสาวคนรอง วัย 16 ปี ทั้ง 3 คนรอต้อนรับทีมงานอยู่บริเวณม้านั่งหน้าบ้าน
นางรอมาเล่าว่า เธอสูญเสียสามีไปเมื่อ 12 ปีก่อน จึงต้องทำงานหาเลี้ยงลูกทั้ง 4 คนเพียงลำพัง แต่รายได้จากการรับจ้างกรีดยางเพียงวันละ 200 บาทไม่เพียงพอสำหรับส่งเสียลูกทั้งหมดให้เรียนหนังสือได้เพราะแม้การศึกษาไทยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนแต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวมถึงค่าใช้จ่ายรายวันที่ต้องให้ลูกๆ ติดตัวไปโรงเรียน
เมื่อผู้เป็นแม่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เพียงลำพัง นายอาดิลันในฐานะพี่ชายคนโตจึงเป็นคนแรกที่ต้องเสียสละออกจากโรงเรียนเมื่อ 5 ปีก่อนเพื่อทำงานหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว แต่เมื่อรายได้ยังไม่เพียงพอ น.ส.อาดีลาน้องสาวคนรองจึงเป็นอีกคนที่ต้องออกจากโรงเรียนในอีก 2 ปีต่อมา เพื่อให้น้องอีก 2 คนที่ยังเล็กมีโอกาสได้เรียนต่อจนจบ
ในช่วงแรกที่ทั้ง 2 คนออกจากโรงเรียนพวกเขาเดินทางไปทำงานที่ร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซียหรือที่เรียกกันว่า “ร้านต้มยำกุ้ง” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่เด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนหนึ่งนิยมเดินทางไปหารายได้ เพราะเชื่อว่ารายได้ดีกว่าทำงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีความคล้ายคลึงทางด้านศาสนาและภาษามากกว่าเพราะเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยส่วนใหญ่ถนัดใช้ภาษามลายูมากกว่าภาษาไทย
หลังจากทั้ง 2 เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านได้เพียงปีเดียวกลับพบความจริงว่าการทำงานในต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะทั้ง 2 อยู่ในสถานะลักลอบเข้าไปทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อทางการมาเลเซียเข้มงวดกวดขันมากขึ้น จึงไม่สามารทำงานต่อได้ และต้องเดินทางกลับมาประเทศไทยในที่สุด
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย นายอาดิลันตัดสินใจสมัครเข้าทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส แต่การทำงานโดยไม่มีวุฒิการศึกษาก็ไม่ง่าย ในช่วงแรกเขาได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 200 บาท ซ้ำร้ายยังถูกนายจ้างโกงเงินไม่จ่ายค่าจ้างจนต้องลาออกมาหางานใหม่
วันหนึ่งครูประจำศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อ.สุไหงปาดี เดินทางไปที่บ้านพบกับนางรอมะ ผู้เป็นแม่ เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ลูกทั้ง2คน ออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับกลางคัน พร้อมให้คำแนะนำถึงโอกาสในการเรียนต่อ กศน.ของทั้ง 2 คน
สิ่งที่นางรอมะมองว่าเป็นโอกาสคือ การเรียน กศน.ไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน ต่างจากโรงเรียนภาคสามัญที่บังคับให้ต้องเข้าเรียนตามเวลาที่กำหนด ทำให้ลูกทั้ง 2 คน สามารถเข้าเรียนพร้อมกับทำงานไปด้วยได้ จึงแนะนำให้ลูกทั้ง 2 คน เข้าสมัครเรียนใน กศน.ภาคเรียน 2561
ปัจจุบัน นายอาดิลันและ น.ส.อาดิลา ยังคงทำงานในร้านอาหารแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส พร้อมกับ เรียน กศน.ไปด้วย นั่นทำให้อนาคตของทั้ง 2 คน กลับมาเปิดกว้างอีกครั้ง เพราะหากสามารถเรียนจนจบ พวกเขาจะสามารถใช้วุฒิการศึกษาในการสมัครเข้าทำงานได้หรือหากต้องการเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นก็สามารถทำได้เช่นกัน
น.ส.อาดิลา สะแลแม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเด็กนอกระบบการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดือนตุลาคม 2560 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตัวเลขที่น่าตกใจออกมาว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กในวัยเรียนกว่า 45,000 คน หรือ ราวร้อยละ 40 ของเด็กในพื้นที่ออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร พร้อมกำหนดให้ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน