ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปภ.สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วม 43 จังหวัด

ภัยพิบัติ
13 ก.ย. 61
10:57
10,941
Logo Thai PBS
ปภ.สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วม 43 จังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งเฝ้าระวังน้ำท่วม 43 จังหวัด หลังได้รับอิทธิพลพายุโซนร้อนบารีจัต และพายุไต้ฝุ่นมังคุด ช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.นี้

วันนี้ (13 ก.ย.61) กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุบารีจัต ฉบับที่ 8 ว่า เมื่อเวลา 04.00 น. พายุโซนร้อน "บารีจัต" บริเวณด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในวันนี้ (13 ก.ย.) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ขณะที่พายุไต้ฝุ่น "มังคุด" ที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 ก.ย.61 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน และผ่านเกาะฮ่องกง โดยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 ก.ย.61 ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า คาดว่าพายุโซนร้อน "บารีจัต" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกงและเกาะไหหลำ ประเทศจีน ช่วงวันที่ 13-14 ก.ย.61 และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้วันที่ 13-18 ก.ย.นี้ ทุกภาคจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งการให้จังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย 43 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 10 จังหวัด แบ่งเป็นภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคใต้ 6 จังหวัด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง