วันนี้ (19 ก.ย.61) ที่บริเวณหมู่บ้านผาหมี ถ้ำหลวงขุนน้ำนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้มีกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าอาข่าที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านผาหมี จัดประเพณีไล่ยักษ์ หรือเลี้ยงส่งยักษ์ ซึ่งเป็นประเพณีใหญ่ประจำปีของอาข่า ที่จะจัดงานกันช่วงหลังเข้าพรรษา หรือก่อนเข้าพรรษา ตามฤกษ์ที่ผู้นำตกลงกับชาวอาข่า
สำหรับพิธีไล่ยักษ์ หรือเลี้ยงส่งยักษ์ ชาวอาข่าผู้ชายจะช่วยกันสร้างประตูผี โดยนำไม้มาไผ่มาสร้างเป็นซุ้มประตูไว้ที่ด้านล่างของผา ซึ่งการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากลักษณะพื้นที่ มีความลาดชันและต้องเดินเท่านั้น
ขณะที่คนในหมู่บ้านผาหมีที่เป็นชาวอาข่า จะจุดประทัดและประทัดยักษ์ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเวลา 20:00 น.ของวันนี้ ตามความเชื่อจะใช้เสียงในการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกจากพื้นที่ โดยการจุดประทัด และประทัดยักษ์ ทำให้เกิดเสียงดังสนั่นกึกก้องไปทั่วผาหมีตลอดทั้งวัน รวมถึงเมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) ที่เริ่มจุดเป็นวันแรกนำร่องก่อนถึงวันจริงในวันนี้
นอกจากนี้ ชาวบ้านชนเผ่าอาข่าในแต่ละบ้านจะนำไม้มาเหลาเป็นดาบ ภาษาอาข่าเรียกว่า "ตอมา" แปลว่า ดาบ ซึ่งอดีตจะไม่มีการเขียนลวดลายใดๆ ลงบนดาบ แต่ปัจจุบันที่บ้านผาหมี ทางกลุ่มอาข่าแต่ละบ้านได้ใชัดินสอสีชอล์กสีต่างๆ มาระบายและแต่งแต้มให้เป็นลวดลายมากขึ้น
ขณะที่ของไหว้ตามประเพณี จะต้มไก่เพื่อเตรียมเซ่นไหว้ในแต่ละครัวเรือน รวมถึงการทำ "ข้าวเหนียวปุ๊ก" โดยนำข้าวเหนียวมานึ่ง จากนั้นนำมาตำตอนร้อน 10-20 นาที เพื่อให้ละเอียดและนุ่ม ผสมกับเกลือเล็กน้อยและงาดำเพื่อเพิ่มรสชาติ จากนั้นปั้นเป็นแผ่นบางๆ บางครัวเรือนนิยมกินเปล่าๆ แต่บางครัวเรือนนิยมกินกับน้ำตาลทรายอ้อย และนมข้นหวาน โดยเเหตุผลที่ใช้ "ข้าวเหนียวปุ๊ก" เพราะตามความเชื่อดั้งเดิม ชาวอาข่าเชื่อว่า "ข้าว" เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต
สำหรับชนเผ่าชาวอาข่า ที่บ้านผาหมี อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีประมาณ 800 ครัวเรือน หรือ 900 คน ส่วนใหญ่มากจากถิ่นดั้งเดิม คือ สิบสองปันนา แต่ปัจจุบันการจัดประเพณีไล่ยักษ์จะนิยมให้ผู้ชายร่วมประเพณี ตามความเชื่อว่าเป็นผู้สืบสกุล แต่ในจำนวน 900 คน มีผู้ชายประมาณ 400 คน ซึ่งบางส่วนเดินทางไปทำงานต่างพื้นที่ ทำให้เดินทางกลับมาไม่ทัน และมีผู้ชายชาวอาข่าอีกส่วนหนึ่งที่รับจ้างในแรงงานในต่างประเทศ จึงไม่ได้เดินทางมาร่วมประเพณีวันนี้
สำหรับชาวอาข่าจัดประเพณีที่บ้านผาหมีมานานกว่า 150 ปีแล้ว ตามตำนานเชื่อว่าอดีตจะมียักษ์กินคนพรากคนไปจากหมู่บ้าน จึงต้องหาวิธีไม่ให้ยักษ์เข้ามากินคนในหมู่บ้าน นำมาสู่ประเพณีไล่ยักษ์ หรือเลี้ยงส่งยักษ์