วันนี้ (20 ก.ย.2561) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดแถลงข่าวประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศใหม่ โดยนำ PM2.5 หรือค่าฝุ่นขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน มาร่วมคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย
นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ช่วงหน้าหนาวปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครประสบกับวิกฤตฝุ่นควันอย่างมากและมีการเรียกร้องให้นำค่าฝุ่น PM2.5 มาแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ จึงนำไปสู่การเพิ่มค่าฝุ่นดังกล่าวเข้ามาร่วมในการวัดคุณภาพอากาศ โดยก่อนหน้านี้วัดสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิด คือ ก๊าซโอโซน (O3), ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ซึ่งเป็นสารมลพิษหลักที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 จะเพิ่มค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กมากมาร่วมวัดด้วย โดยดัชนีคุณภาพอากาศที่คำนวณได้ของสารมลพิษทางอากาศประเภทใดมีค่าสูงสุดจะใช้เป็นดัชนีคุณภาพอากาศในช่วงเวลานั้นๆ
ขณะนี้ทำร่างมาตรการแก้ไขฝุ่นละออง โดยเน้น PM2.5 และรอนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ พิจารณาเห็นชอบ ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ โดยจะมีคณะทำงานและตั้งวอร์รูมแจ้งเตือนประชาชนหากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีเหลือง ซึ่งเป็นระดับก่อนที่จะเกิดปัญหา
พร้อมกันนี้ยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน Air4thai แสดงดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่สนใจติดตามสถานการณ์มลพิษ โดยจะเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศแบ่งเป็น 5 ระดับเช่นเดิม แต่ปรับให้เข้มงวดมากขึ้น โดย 0-25 คือ คุณภาพอากาศดีมาก (สีฟ้า), 26-50 คุณภาพอากาศดี (สีเขียว), 51-100 คุณภาพอากาศปานกลาง (สีเหลือง) ซึ่งระดับนี้อาจจะส่งผลกระทบคนผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จึงควรป้องกันตัวเอง, 101-200 คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ซึ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจ ควรป้องกันตัวเองและไม่ควรออกไปอยู่กลางแจ้ง, และ 200 ขึ้นไป (สีแดง) คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนต้นตอของฝุ่นชนิดนี้มาจากการคมนาคมขนส่ง ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง โรงงานอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า รวมถึงการเผาในที่โล่ง โดยกรมควบคุมมลพิษจะเปิดวอร์รูมในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นและให้ข้อมูลกับประชาชนในการเตรียมพร้อมป้องกันตัว
ล่าสุด จากรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ของกรมควบคุมมลพิษในวันนี้ ณ เวลา 08.00 น. พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจวัดได้ 10-17 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ณ เวลา 11.00 น. ตรวจวัดได้ 105 มคก./ลบ.ม. ซึ่งดัชนีคุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังกล่าวถึงปัญหาฝุ่นที่ ต.หน้าพระลาน ว่าเป็นการประกอบกิจการเหมืองหิน โรงโม่ การระเบิดหิน โดยต้องลงพื้นที่ไปติดตามดูแล แม้ผู้ประกอบการจะมีมาตรการควบคุมการระบายมลพิษอยู่แล้ว แต่ต้องดูว่ามากเกินขีดความสามารถของสิ่งแวดล้อมที่จะรองรับได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่กำลังนำเข้ามาพิจารณาเป็นแผนในอนาคต