2 ขั้วการเมืองที่ว่า ก็คือขั้วสนับสนุน และขั้วที่ปฏิเสธ การสืบทอดอำนาจของ คสช. และการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาพที่สะท้อนออกมาให้เห็นชัดมากที่สุดว่า
พรรคเพื่อชาติ คือหนึ่งในพรรคการเมืองที่ปฏิเสธ คัดค้านและสกัดกั้น การสืบทอดอำนาจของ คสช. และการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เพราะพรรคการเมือง พรรคนี้ มีบุคคลในขั้วอำนาจเดิมและกลุ่ม นปช. ร่วมงานอยู่ ดังนั้นการไม่เอา คสช. และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นเจตจำนงค์เดิมของขั้วอำนาจเดิม ขั้วอำนาจเดิม ที่หมายถึงบุคคลในพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ตลอดจนมวลชนหลักของ 3 พรรคการเมืองที่ว่านี้ ก็คือ กลุ่ม นปช.
แม้บุคคลสำคัญของกลุ่ม นปช. คือนายจตุพร พรหมพันธุ์ จะประกาศตัวเป็นได้แค่กองเชียร์ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 ขีดกั้นผู้ที่เคยรับโทษจำคุกและยังพ้นโทษไม่ถึง 10 ปี ด้วยคดีอาญาหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จากเหตุเปิดปราศรัยทางการเมือง เมื่อปี 2552
แต่ก็เชื่อได้ว่า นอกจากหลักการของการเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ได้ชื่อว่า "ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็น "ประชาธิปไตย"ในการเมืองไทยแล้ว ความสัมพันธุ์ส่วนตัวของนายจตุพร ไม่น่าจะตัดขาดได้จากพรรคเพื่อไทย พลังประชาชน หรือไทยรักไทยในอดีตได้ แต่อาจมีข้อขัดแย้ง-บาดหมางอยู่บ้างกับบุคคลในกลุ่ม นปช.เอง เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะฉายภาพนั้น ออกมา
เพราะเวลานี้ คือเวลาของการวางกลยุทธ เตรียมสู้กับขั้วอำนาจใหม่ มากกว่า โดยเฉพาะการต่อสู้-แข่งขันในสนามเลือกตั้ง จึงต้องรื้อฟื้นพรรคเพื่อชาติขึ้นมาขับเคลื่อนงานการเมือง โดยเดิมจัดตั้งเมื่อขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ปี 56 มี นายเถลิงยศ บุตุคำ เป็นหัวหน้าพรรค น.ส.รัชชสรา แก้วเกิดมา เป็นเลขาธิการพรรค มีสมาชิก 508 คน ที่ทำการพรรคอยู่ที่สำโรงเหนือ เมืองสมุทรปราการ 14 ต.ค.นี้ เรียกสมาชิกประชุมเพื่อแก้ข้อบังคับพรรคใหม่ ก่อนจะประชุมใหญ่กลางเดือน พ.ย.เพื่อปรับโครงสร้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคคล หรือนโยบาย
เป็นที่คาดการณ์ว่า บุคคลที่จะยืนหยัดอยู่ในพรรคเพื่อชาติ ก็คือบุคคลที่เคยอยู่ในพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย รวมถึงนโยบายของทั้ง 3 พรรคที่ว่านี้ ก็ต้องเชื่่อมต่อถึงกัน กับพรรคเพื่อชาติและไม่มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าการเดินเกมการเมืองในสนามเลือกตั้ง ที่หวังผลจับมือกันหลังการเลือกตั้ง โดยมีแม่ข่าย คือ พรรคเพื่อไทย ตามด้วยพรรคเพื่อธรรม
ยังเป็นที่สังเกตว่า นอกจาก เพื่อไทย -เพื่อธรรม และเพื่อชาติ รวมไปถึงพรรคประชาชาติ ของนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา แล้ว อาจเป็นไปได้ว่าขั้วอำนาจนี้ ยังมีพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการ อย่างพรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาภิวัฒน์ /พรรคพลังพลเมืองไทย และพรรคประชาธิปไตยใหม่หรือแม้แต่พรรคพลังปวงชนไทย ที่มีชื่อ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ร่วมอุดมการณ์ไปด้วย
นี่ยังไม่นับรวมน้องใหม่ไฟแรง อย่างพรรคอนาคตใหม่ โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แม้จะเป็นทายาททางการเมือง ที่อาจจะต่างขั้วกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ท่าทีและทิศทางทางการเมือง น่าจะร่วมทีมไปกับพรรคเพื่อไทย-เพื่อธรรม และเพื่อชาติได้