ความพยายามที่จะผลักดันให้ “ป่าแก่งกระจาน” เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ" แห่งที่ 3 ของประเทศไทย หลังจากยูเนสโก ประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ไปแล้วก่อนหน้านี้
ความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ภาพ : คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
"ป่าแก่งกระจาน" มิใช่มีเพียงผืนป่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น แต่ไล่เรียงจากผืนป่าด้านบนลงมา ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี จ.ราชบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
และด้วยที่ตั้งที่อยู่ในเขตนิเวศอินโด-หิมาลายัน ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แห่งหนึ่งในเอเชีย รวมทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำภาชี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำกุยบุรี
ภาพ : คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ความแตกต่าง กลุ่มป่าแก่งกระจานกับพื้นที่อื่น
กลุ่มป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในเขตนิเวศเดียวกันกับพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง แต่อยู่ในเขตย่อยต่างกัน จึงมีความชุ่มชื้นและมีสัดส่วนของป่าดิบแล้งมากกว่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และมีชนิดพันธุ์ ในเขต Sundaic ที่หลากหลายกว่า
พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ก็มีความต่างอย่างชัดเจนกับกลุ่มป่าแก่งกระจานซึ่งวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ จึงทำให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น- เขาใหญ่ ขาดลักษณะสำคัญของเขต Sundaic และ Indo-Burma ซึ่งกลุ่มป่าแก่งกระจานมีอยู่อย่างเห็นได้ชัดเจน
ภาพ : Mana Phermpool
ดังนั้นจากกรณีหลายฝ่ายกังวลและคัดค้านโครงการปรับปรุงถนนคอนกรีต ขึ้นเขาพะเนินทุ่งความยาว 21.5 กิโลเมตร ในเขตอุทยานชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อาจกระทบต่อความพยายามที่จะเสนอให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “มรดกโลกทางธรรมชาติ” ดังนี้
1.กระทบต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ที่จะต้องนำเสนอเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีการค้นพบชนิดพันธุ์อย่างน้อย 720 ชนิด มีการกระจายพันธุ์จากถิ่นอาศัยทางใต้ ขึ้นไปจนถึงบริเวณเหนือสุด เช่น ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกบั้งรอกปากแดง และนกปรอดสีน้ำตาลตาแดง ปาดป่าจุดขาว และค่างดำ เป็นต้น
นอกจากนั้นยังพบสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมายอีกหลายชนิด เช่น แมวลายหินอ่อน เก้งหม้อ เลียงผา และสมเสร็จ ที่สำคัญกลุ่มพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตภูมิพฤกษ์ 4 ลักษณะเด่น ได้แก่ Indo-Burmese หรือ Himalayan 2.Indo-Malaysian 3.Annamatic และ 4.Andamanese
พบการปรากฎของพืชเฉพาะถิ่น เช่น จำปีเพชร และจำปีดอย ซึ่งราชอาณาจักรไทยพบเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเท่านั้น เป็นแหล่งสำคัญของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) คือ จระเข้น้ำจืด และได้รับการประกาศเป็นมรดกแห่งอาเซียน เมื่อปี พ.ศ.2546 แล้วด้วย
2.ตลอดแนวเส้นทางที่จะมีการปรับปรุงเส้นทางดังกล่าวเป็น “ถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่” (In-situ conservation) ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงถิ่นที่อยู่ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามที่มีความโดดเด่นเป็นสากล ทั้งจากมุมของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์ เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
ทั้งนี้ แก่งกระจานได้ถูกขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ กับศูนย์มรดกโลกไว้แล้วตั้งแต่ปี 2554 และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อขึ้นทะเบียน
หวั่นผลกระทบก่อสร้างถนน
ภาพ : คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลต่อกรณีสถานภาพการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก เนื่องจากขณะนี้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) แล้ว แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ปล่อยให้จัดทำโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงระหว่างการก่อสร้างถนน
และระยะยาวจากอุบัติเหตุของรถนักท่องเที่ยวที่ใช้ความเร็วสูง เพื่อเร่งรีบไปชมทะเลหมอกในยามเช้า ณ จุดชมวิว ที่ทำการอุทยานเขาพะเนินทุ่ง ย่อมเป็นความเสี่ยงสูงที่สัตว์ป่า สัตว์คุ้มครอง และสัตว์สงวนตามกฎหมาย จะได้รับอันตราย
อย่างไรก็ตาม หากพื้นที่ป่าแก่งกระจานได้ถูกตั้งให้เป็นพื้นที่มรดกโลก จะส่งผลต่อการอนุรักษ์ในระดับโลก และส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในเรื่องของการจัดการที่เป็นสากลมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จี้ "ประวิตร" ยุติถนนพะเนินทุ่ง-ขู่ฟ้องศาลปกครอง
แก่งกระจานมี "สัตว์ป่า" อะไรบ้าง