วันนี้ (13 พ.ย.61) นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 2564 แต่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากลูกหลาน ซึ่งแนวโน้มรายได้ปรับขึ้นแบบชะลอตัว จึงไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูพ่อแม่วัยเกษียณ ส่งผลให้คนวัยเกษียณบางส่วนต้องทำงานต่อไป
สอดคล้องกับข้อมูลธนาคารโลก ระบุว่า ประชากรไทยมีเงินออมเพียงร้อยละ 7 ของจีดีพี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทุกประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา ที่ร้อยละ 19.7 ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อยู่ที่ร้อยละ 50.7 ของจีดีพี
ทั้งนี้ ระบบการออมรับวัยเกษียณของไทยไม่เอื้อต่อการดำรงชีพหลังเกษียณอย่างเพียงพอ ยกเว้นกลุ่มข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 1 ล้านคน เป็นคนทำงานกลุ่มเดียวที่จะมีรายได้ ร้อยละ 50-70 ของเงินเดือนก่อนเกษียณ ซึ่งเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ ขณะที่คนทำงานส่วนใหญ่ 22 ล้านคน ไม่อยู่ในระบบบำนาญ จึงเสี่ยงมีเงินออมไม่เพียงพอในวัยเกษียณ จำเป็นต้องปฏิรูประบบบำนาญ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้หลังเกษียณ และคาดหวังให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นกองทุนการออมภาคบังคับ เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาการออมวัยเกษียณในไทยให้ดีขึ้น
คนไทยมีหนี้ 80% ของรายได้
ผศ.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนให้รัฐบาลเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กบช. หลังพบว่าทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่มีภาระหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70-80 ของรายได้ จึงเหลือเงินออมเข้ากองทุนจากภาคบังคับเฉลี่ยร้อยละ 8-10 ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมแนะนำให้คนไทย ออมเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ต่อเดือน ต่อเนื่องไปจนถึงวัยเกษียณเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอ หากคำนวณบนพื้นฐานความต้องการรายได้หลังเกษียณ เฉลี่ย 16,000 บาทต่อเดือน ควรมีเงินออมไม่น้อยกว่า 4,500,000 บาท
ขณะที่นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) กล่าวว่า บริษัทไทยทั้งหมดจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพียงร้อยละ 4 ของบริษัททั้งหมด มีสมาชิกประมาณ 3,000,000 คน ส่วนใหญ่กำหนดแผนลงทุนที่ไม่เหมาะสม ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าว ไม่ถึง 1,000,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
ด้านนายวศิน วณิชย์วรนันท์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า แม้อัตราการเติบโตกองทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ต่อปี แต่สัดส่วนการลงทุนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ ร้อยละ 50-60 ของทั้งหมด กลับกระจุกตัวในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งให้ผลตอบแทนไม่ต่างจากดอกเบี้ยเงินฝาก จึงแนะนำให้บริษัทชี้แจงพนักงานเพื่อความเข้าใจและเพียงพอต่อวัยเกษียณ