วันนี้ (15 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฉพาะรัฐบาล คสช.กว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นรูปเป็นร่างต้องผ่านการต่อรองจากกลุ่มทุนที่คัดค้านจนความเข้มข้นกฎหมายลดลง อย่างเพดานภาษีที่จะจัดเก็บเข้า ครม.ได้ลดลงไปมาก และจะลดทอนลงไปอีกร้อยละ 40 เมื่อเข้า สนช. อีกทั้งยังผ่อนผันทั้งเวลาและประเภทการใช้ที่ดินอีกหลายข้อ
ที่ต้องจับตาคืออัตราภาษีที่เข้าสภาวันนี้และจะมีการอนุมัติจัดเก็บจริงเท่าไหร่ ซึ่งที่ดินเพื่ออยู่อาศัยบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.02 หรือล้านละ 200 บาท สำหรับบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ต้องเสียภาษีล้านละ 200 บาท
ที่ดินเกษตรกรรม มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกก็ได้รับการยกเว้น จากนั้นที่เหลือทุกๆ 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 100 บาท และยกเว้นภาษีใน 3 ปีแรก เพื่อไม่ให้รายย่อยเดือดร้อน แต่หากเป็นนิติบุคคลหรือเกษตรกรรมรายใหญ่ คิดภาษีทุกมูลค่า 1 ล้านบาท เสียภาษี 100 บาท โดย 10 ล้านบาทจะเสียภาษี 1,000 บาท และจะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปีแรก
ส่วนโรงงาน ร้านค้าพาณิชย์ จะค่อยๆ เพิ่มอัตราภาษีแบบขั้นบันได สูงสุดไม่เกินร้อยละ 0.7 หากต้องจ่ายมากกว่าภาษีที่เสียอยู่เดิม จะให้ทยอยเพิ่มส่วนเกินจากปีแรกร้อยละ 25 จนครบร้อยละ 100
สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า เริ่มเก็บภาษีร้อยละ 0.3 ของราคาประเมิน และหากไม่ใช้ประโยชน์จะเก็บเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 3 จนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
นายสุเชษฐ กองชีพ นักวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า อัตราภาษีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อนักพัฒนาที่ดินที่กว้านซื้อทำโครงการ เพราะส่วนใหญ่กู้เงินมา โดยซื้อมาแล้วรีบสร้างโครงการและกฎหมายยังยกเว้นภาษีให้ 5 ปี ส่วนบ้านพักอาศัยก็แทบไม่มีผลกระทบ ซึ่งคนที่ต้องเสียอาจมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ที่รู้สึกเดือดร้อนอาจเป็นผู้รับมรดกจากคหบดีเดิม หรือบ้านที่อยู่มาตั้งแต่เด็กแถบใจกลางกรุงเทพฯ ที่ราคาที่ดินแพงขึ้นอย่างรวดเร็วตารางวาละหลายแสนบาท จากที่ไม่ต้องเสียภาษี กลายเป็นเสียปีละนับหมื่นบาท ซึ่งอาจรู้สึกเป็นภาระจนต้องปล่อยขาย
ก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินพยายามกันมาเกือบ 30 ปีและผ่านมาแล้ว 12 รัฐบาล เฉพาะรัฐบาล คสช.ได้ผ่าน ครม.ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2560 สนช.รับหลักการวาระ 1 แต่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการขยายเวลาไปรวม 9 ครั้ง จนต้องเลื่อนอีก 2 ปีไปใช้ในปี 2563 ซึ่งจะออกมาตอบโจทย์หรือไม่
โจทย์แรกคือ การแยกประเภทการใช้ที่ดินและเก็บที่ดินรกร้างสูงกว่าประเภทอื่น เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่อัตราเก็บที่ต่ำเกินไปอาจไม่ช่วยให้เร่งการใช้ประโยชน์ที่ดินได้จริง โจทย์ที่ 2 คือ การกระจายการถือครองยังไม่เกิดขึ้น และโจทย์สำคัญคือ การกระจายอำนาจและเงินให้ท้องถิ่นดูแลตัวเองมากขึ้น จัดเก็บและบริหารเอง
จากที่มีการคาดการณ์ว่าภาษีที่ดินที่นำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่และจะทำให้จัดเก็บเพิ่มได้หลายหมื่นล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังประเมินว่าจะได้เพิ่มเพียง 10,000 ล้านบาท หากเทียบกับงบประมาณที่รัฐต้องอุดหนุนให้ท้องถิ่นปีละกว่า 2.5 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีที่จัดเก็บได้เพิ่มไม่ช่วยให้ท้องถิ่นลดการพึ่งพาการอุดหนุนงบประมาณจากส่วนกลาง
หากดูจากโจทย์สำคัญทุกด้านที่คาดหวังไว้ก็อาจไม่ตอบโจทย์ใดๆ โดยนายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ มองว่าต้องคลอดกฎหมายให้สำเร็จก่อน อย่างน้อยก็ได้ตระหนักว่าการจ่ายภาษีคือเรื่องของหน้าที่ แม้จะยังเก็บไม่ได้มากในช่วงแรก