วานนี้ (15 พ.ย.2561) บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ กพฐ. ประชุมแก้ปัญหากรณีรายชื่อนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีอยู่จริงหรือนักเรียนผี แต่มารับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดซึ่งพบสาเหตุที่นักเรียนมีชื่อในทะเบียนแต่ไม่มีตัวตน เช่น ขาดเรียนต่อเนื่อง สมรสแล้วขอพักการเรียนชั่วคราว รวมถึงการย้ายที่อยู่ ไม่จบหลักสูตร ม.3 หรือ ม.6 แล้วไม่แจ้งย้ายออก หรือไม่แก้ผลการเรียน
ส่วนกรณีมีชื่อในสังกัด สพฐ.แต่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เพราะไปลงทะเบียนเรียนแต่ไม่แจ้งย้ายออกจากโรงเรียนสังกัดสพฐ.
ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กพฐ. ยอมรับว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย้ายชื่อนักเรียนเข้ามาเพิ่มจำนวนเพราะหวังสร้างผลงานเพื่อปรับเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งสั่งการให้ตรวจสอบแล้ว
มีมูลอยู่แล้ว พบหนึ่งโรงเรียน ที่เป็นข่าวอยู่ ตอนนี้ส่งกรรมการไปสืบข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ มีการบันทึกปากคำกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ แต่การสืบทางลับมีมูล
ศธ.สั่งทุกหน่วยงานเชื่อมโยงระบบข้อมูลนักเรียน
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบอกว่า ระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล หรือ DMC ของแต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกันจึงสั่งการให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เร่งแก้ไขปัญหาส่วนกรณีที่เบิกจ่ายเงินอุดหนุนไปแต่นักเรียนไม่มีตัวตน ก็ต้องจ่ายคืนเงินทั้งหมด
นอกจากนี้ สพฐ.ยังสั่งการให้โรงเรียนในสังกัดตรวจนับจำนวนนักเรียนและส่งมาภายในสิ้นเดือนนี้ คาดว่าจะทราบจำนวนทั้งหมดใน วันที่ 3 ธ.ค.นี้ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณของโรงเรียนจะต้องยืนยันทั้งชื่อในทะเบียนและตัวตนนักเรียนซึ่งในทุกปีการศึกษาจะมีการสุ่มตรวจทุก วันที่ 10 มิ.ย. และ วันที่ 10 พ.ย.อยู่แล้ว
ผอ.สั่งแก้จำนวน นร.เข้าหลักเกณฑ์ ร.ร.ขนาดกลาง
พ.ต.ท.สามารถ ไชยณรงค์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 3 นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบข้อมูลและสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนบางแห่ง ยอมรับว่า ถูกผู้บริหารให้กรอกตัวเลขนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 500 คน แก้ไขให้มียอดนักเรียนเกิน 500 คน เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์โรงเรียนขนาดกลาง
ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีการแก้ไขตัวเลข มีข้อสังเกตว่า หากเป็นโรงเรียนขนาดกลาง งบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการที่จะจัดสรรลงมา โดยเฉพาะงบอุดหนุนรายหัว ที่จะได้รับตั้งแต่คนละ 3,500 - 3,800 บาท ทางโรงเรียนจะสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ รวมไปถึงผู้บริหารสามารถย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ท.
ขณะที่ จ.อุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายที่ ป.ป.ท.เตรียมเข้าตรวจสอบ นายสุทธิพร ไชยพิเดช รักษาการศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เมื่อเทียบจำนวนนักเรียนปีการศึกษานี้กับปีที่แล้ว พบว่ามีจำนวนลดลง จึงไม่มีนัยยะสำคัญใดๆ
อีกทั้ง การเข้า - ออก หรือการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้เรียน โรงเรียนแต่ละแห่งจะต้องใช้เลขประจำตัว 13 หลักเป็นหลักฐาน จึงเป็นเรื่องยากในการสร้างตัวเลข เพื่อขอรับเงินอุดหนุน หรือใช้ในการโยกย้ายผู้บริหารตามที่มีการตั้งข้อสังเกต