วันนี้ (20 พ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเรื่องเพศและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ถูกยกขึ้นมาเป็นปัญหาใหญ่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งจากข้อมูลของยูนิเซฟระบุว่าเด็กไทยมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เมื่ออายุเฉลี่ย 13 ปีครึ่ง และมีอัตราตั้งครรภ์ในวัยเรียนสูง สอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารโลกในปีล่าสุด พบว่าไทยมีจำนวนแม่วัยใสมากเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน หรือวัยรุ่นทุก 1,000 คน จะเป็นแม่วัยใส 44 คน
ผลสำรวจของกรมอนามัยในปี 2560 พบว่าในแต่ละวันมีวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ย 225 คน และเมื่อตั้งครรภ์ระหว่างเรียน ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 37.6 ต้องหยุดเรียน และลาออกกลางคัน ส่วนหากออกจากโรงเรียนแล้วจะทำอะไรต่อ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 56.6 ระบุว่าอยู่บ้านเลี้ยงลูก ซึ่งเท่ากับหมดอนาคตทางการศึกษาในทันที จะเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์หรือตัวเลขของเยาวชนที่ท้องไม่พร้อม ปัญหาคือเยาวชนที่ต้องเป็นแม่วัยใส ไม่รู้หรืออาจจะยังเข้าไม่ถึงสิทธิทางกฎหมาย
ทั้งนี้ กว่า 2 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการป้องกันและการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งหัวใจหลักของ พ.ร.บ.นี้ คือวัยรุ่นมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง โรงเรียนต้องมีวิชาเพศศึกษา หากตั้งครรภ์ต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาต่อตามความประสงค์ และต้องได้รับการคุ้มครองและจัดรูปแบบการศึกษาในโรงเรียนเดิมให้เหมาะสม
โดยมี 5 กระทรวง ทยอยออกกฎหมายลูกมารองรับสิทธิ์ต่างๆ ของเด็ก เช่น กฎกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามไล่ออกนักเรียนที่ตั้งครรภ์ โดยให้ลาหยุดเรียนระหว่างตั้งครรภ์ คลอดบุตร และดูแลบุตรได้ ยกเว้นกระทรวงมหาดไทยที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ซึ่งถ้าคลอดกฎหมายลูกออกมาครบทั้งหมดแล้ว คาดว่าน่าจะช่วยปลดล็อกเรื่องงบประมาณได้
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส พูดคุยกับวัยรุ่นหญิงที่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ พวกเธอยอมรับว่าไม่ทราบมาก่อนว่ามีกฎหมายนี้ พวกเธอตั้งครรภ์ในวัยเรียน จึงออกจากโรงเรียนแล้วมาเรียนต่อที่ กศน. อ.แม่ออน ซึ่งมีหลักสูตรช่วยเหลือตลอดการตั้งครรภ์ พวกเธอจึงยังได้เรียนหนังสือ และเลี้ยงลูก จนกำลังจะเรียนจบชั้น ม.ปลาย
วิธีของ กศน. อ.แม่ออน สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย กศน. ยังทำหน้าที่เป็นต้นแบบชุมชนสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองครู เพื่อปลดล็อกด้านทัศนคติเรื่องเพศศึกษา อีกด้านหนึ่งมีความพยายามของนักสื่อสารสุขภาวะทางเพศ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับแม่วัยใส และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย หวังลดอัตราการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นให้ลดลง