ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.จัดงานลอยกระทง "คลองโอ่งอ่าง" ปชช.ทยอยร่วมงาน

สังคม
22 พ.ย. 61
18:50
1,017
Logo Thai PBS
กทม.จัดงานลอยกระทง "คลองโอ่งอ่าง" ปชช.ทยอยร่วมงาน
ประเดิมงานแรกกับการจัดงานเทศกาลลอยกระทง หลังดำเนินการจัดระเบียบ และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคลองโอ่งอ่าง ซึ่ง กทม.ตั้งใจให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานคร จัดงานลอยกระทง บริเวณคลองโอ่งอ่าง หรือที่รู้จักกันดีว่า "สะพานเหล็ก" ภายใต้แนวคิด "ประดิษฐ์กระทง นุ่งไทย ไหว้พระแม่คงคา" เพื่อเป็นการต้อนรับคลองโอ่งอ่างที่ได้ถูกยกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของย่านประวัติศาสตร์และโบราณสถานที่ประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ และทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยช่วงเย็นที่ผ่านมา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน และร่วมลอยกระทงกับประชาชนด้วย บรรยากาศบริเวณริมคลองโอ่งอ่างขณะนี้เริ่มคึกคักและเต็มไปด้วยประชาชนตลอด 2 ฝั่งคลองของการจัดงานตั้งแต่บริเวณสะพานภาณุพันธุ์ไปจนถึงสะพานดำรงสถิต ระยะทาง 250 ม. จากการสังเกตกระทงที่นำมาขายและที่ประชาชนนำมาลอยเองนั้นเน้นทำจากวัสดุธรรมชาติตามการรณรงค์ของ กทม.

รุ่งอรุณ สิงห์นอง ชาวบ้านริมคลองโอ่งอ่าง กล่าวว่า ดีใจที่ปีนี้ได้ลอยกระทงที่คลองโอ่งอ่างอีกครั้ง ซึ่งหลังการจัดระเบียบนั้นดูมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น แต่ก็ต้องการให้พัฒนาเป็นย่านท่องเที่ยว และจัดกิจกรรมต่อเนื่องในทุกๆ ปี

การจัดงานลอยกระทงที่คลองโอ่งอ่าง เน้นกิจกรรมแบบไทยๆ และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากส่วนต่างๆ คอยดูแลอำนวยความสะดวก เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย

สำหรับคลองโอ่งอ่าง เป็นคลองเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ยาว 1,800 ม.ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เชื่อมคลองบางลำพูและแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก่อนนหน้านี้ถูกรุกล้ำกีดขวางลำคลองทั้งหมดจนมองไม่เห็นลำคลอง

จนกระทั่งปี 2558 รัฐบาล และกทม.มีนโยบายรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางทางน้ำออกและใช้งบประมาณ 275 ล้านบาท ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ช่วงระยะ 750 ม. แล้วเสร็จไปเมื่อกลางปี 2559 ยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของย่านประวัติศาสตร์และโบราณสถาน

นับเป็นตัวอย่างของการทวงคืนพื้นที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งอนาคตจะพัฒนาคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและถนนคนเดินที่มีอัตลักษณ์ หรือ เวนิสตะวันออก สร้างรายได้ให้ชุมชนริม 2 ฝั่งคลอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง