การแสดงบทบาทตัวยักษ์ ตัวลิง ใน "ละครโขล วัด สวาย อันเดต" ที่ได้รับการฝึกสอนโดยชุมชนพุทธ รอบวัดสวาย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 10 กิโลเมตร ความพิเศษของละครโขลวัดสวาย คือเป็นการแสดงในพิธีกรรม เพื่อสื่อสารกับ "Neak Ta" สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ปกป้องและบันดาลความสมบูรณ์ของผลผลิต ตามความเชื่อของชุมชน เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ "ละครโขล วัด สวาย อันเดต" ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในกลุ่มจำเป็นต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วน หรือ Need of Urgent Safeguarding โดยได้รับเสียงโหวตอย่างท่วมท้นจากประเทศภาคีสมาชิกในที่ประชุมถึง 20 ประเทศ จากทั้งหมด 24 ประเทศ
ในเอกสารที่กัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ให้รายละเอียดไว้ว่า "ละครโขล วัด สวาย อันเดต" เป็นการแสดงสวมหน้ากากโดยนักแสดงผู้ชาย เล่นตามท้องเรื่อง "Reamker" หรือมหากาพย์รามายณะในเวอร์ชั่นกัมพูชา มีมานานตั้งแต่สมัยนครวัด ราวคริสตศตวรรษที่ 9-14 โดยสิ่งที่ทำให้ "ละครโขล วัด สวาย อันเดต" ต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วน เพราะว่าทุกวันนี้มีครูละครโขลสูงวัยอยู่เพียง 5 คน แต่ละคนอายุราว 70-80 ปี ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพและความชรา
แม้ทุกวันนี้ยังมีการฝึกสอนเยาวชนทั้งในบทบาทตัวลิง ตัวยักษ์ และผู้พากย์บท แต่ผลกระทบจากการปกครองโดยเขมรแดง ทำให้ไม่สามารถฝึกสอนบทสำคัญ เช่น พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ได้ โดยในเอกสารยื่นเสนอ "ละครโขล วัด สวาย อันเดต" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระบุไว้ด้วยว่าขอให้ยูเนสโกช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนบ้านด้วย
ล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะของกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ความสำเร็จอย่างเป็นทางการ ขณะที่เพจเฟซบุ๊กของสมเด็จฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้โพสต์ข้อความแสดงความยินดีต่อการขึ้นทะเบียนละครโขลฯ และระบุว่าจะมีการเฉลิมฉลองทั่วประเทศ